
เปิดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ทบทวน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ' ภาคีแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนฉบับ 2 เตรียมเสนอ 'มหาเถรสมาคม' เห็นชอบ21 เมษายน 2566
สช.-ภาคี ร่วมจัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ทบทวน "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" ฉบับที่ 2 ต่อยอดขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย "พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" เตรียมเสนอร่างฯ ต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 โดยมีพระสงฆ์และผู้แทนจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งแบบ on-site และ online
สำหรับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ 2. เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อการขับเคลื่อนฯ หลังจากที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ 5 เวที โดยเวทีเจ้าคณะภาคหรือผู้แทน จัดที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 ประธานคณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2560 คณะสงฆ์ได้มีแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา การจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบ และให้อยู่ภายใต้ภารกิจของคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธาน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560 ฉบับแรกของประเทศบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งฆราวาสหรือองค์กรสงฆ์ต่างให้ความสำคัญและตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก ต่างได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานตามบทบาทและหน้าที่ของส่วนงาน ส่งผลให้การขับเคลื่อนมีความคืบหน้าตามลำดับ อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ พัฒนาพระคิลานุปัฎฐาก วัดส่งเสริมสุขภาพ ชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวร การสื่อสารเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับพื้นที่ โดยมีตัวอย่างและต้นแบบที่ดีงามทั่วประเทศ เป็นต้น
พระเทพเวที กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์กำหนดให้มีการทบทวนทุก 5 ปี มีขั้นตอนและกระบวนการทบทวนตั้งแต่การแต่งตั้งคณะทำงาน การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการดำเนินการมาแล้วโดยลำดับ ในวันนี้เป็นเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยระดมความคิดเห็นต่อการหนุนเสริมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ทั้งความสำคัญของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ความสอดคล้องกับภารกิจขององค์กรของท่าน และบทบาทขององค์กรของท่านในการหนุนเสริม
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความเป็นมาของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีที่มาจากฉันทมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขสุขภาวะ มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อมาโดยลำดับ จนมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ การประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และเจตนารมณ์ร่วมในการขับเคลื่อน โดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ในส่วนของกรอบแนวคิดและกลไกสำคัญในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้ยึดโยงกับกลไกการปกครองคณะสงฆ์ คือ มหาเถรสมาคม มีกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนภายใต้หลักการ “ทางธรรมนำทางโลก” ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ พัฒนาพระคิลานุปัฎฐาก วัดส่งเสริมสุขภาพ สังคมคุณธรรมด้วยพลังบวร การสื่อสารเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับพื้นที่ และการสร้างสุขภาวะพระภิกษุและสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาทั่วประเทศ
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพในวันนี้ ถือเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยมีกระบวนการสำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบสมานฉันท์ จัดได้ทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ และเชิงประเด็น ซึ่งเวทีในวันนี้ได้นำเครื่องมือนี้มาจัดเป็นสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาก่อนหน้านี้ และเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนต่อไป
ด้าน พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต มจร คณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการทบทวนและ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. .... มีที่มาจากที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 หมวดที่ 5 ข้อ 37 “...พึงจัดกระบวนการแบบมีส่วนร่วมเพื่อติดตามผลและทบทวนธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พึงจัดให้มีการทบทวนธรรมนูญฉบับนี้ อย่างน้อยทุก 5 ปี” การสำคัญนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 โดยมีการกำหนดทิศทางและกลไกการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติดังกล่าว สู่เป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”
สำหรับกิจกรรมภายในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ครั้งนี้ ผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง ได้ชี้แจงการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่มตามหมวดธรรมนูญฯ ในแต่ละกลุ่มมีพระสงฆ์เป็นที่ปรึกษาและคฤหัสถ์เป็นผู้ดำเนินรายการการประชุม กลุ่ม A มี ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับความเมตตาจากพระมงคลธรรมวิธาน เป็นที่ปรึกษากลุ่ม กลุ่ม B มี ดร.บุญช่วย ดูใจ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีพระมงคลวชิรากร เป็นที่ปรึกษา และกลุ่ม C มี ผศ.ดร.ปฏิธรรม สำเนียง เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีพระสุธีรัตนบัณฑิต เป็นที่ปรึกษากลุ่ม
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละกลุ่มต่างได้ช่วยระดมความคิดเห็นต่อการหนุนเสริมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ใน 3 ประเด็นคือ 1. ความสำคัญของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ 2. ความสอดคล้องกับภารกิจขององค์กร 3. บทบาทขององค์กรของหน่วยงานต่างๆ ในการหนุนเสริมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งผลจากการประชุมนอกจากจะสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อคณะสงฆ์ หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังส่งผลให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ....
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ช่วยให้ข้อคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตามรายหมวดของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับทบทวนนี้ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งเชิงสาระและแนวทางการขับเคลื่อนกันอย่างคึกคัก โดยหลังจากนี้ขั้นตอนและกระบวนการต่อไปจะได้นำเสนอร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป