กขป.เขตพื้นที่ 6 สานพลังภาคีนโยบาย “กระทรวง-หน่วยงาน-เขต” บันทึกความร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัย

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กขป.เขตพื้นที่ 6 สานพลังภาคีนโยบาย “กระทรวง-หน่วยงาน-เขต”
บันทึกความร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัยวางเป้าหมาย 3 ปีผลักดันให้เกิดรูปธรรมระดับพื้นที่

           เขตสุขภาพเพื่อประชาชน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธิชีววิถี  มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ภาคีเครือข่ายภาคตะวันออก ร่วมด้วยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรรมการเขตสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออกร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่และเชื่อมโยงนโยบายขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัย รวมถึงการส่งต่อข้อมูลองค์ความรู้กับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           นายประชา  เตรัตน์  ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 6 เปิดเผยว่า บทบาทหน้าที่ของกขป.นั้นปรากฎบนปัจจัยพื้นฐานความจำเป็นของมนุษย์  คำว่า “อโรคยาปรามาลาภา”นับเป็นเหตุและปัจจัยที่เกื้อกูลระหว่างกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัย ติดตาม เฝ้าระวัง และเชื่อมข้อมูล องค์ความรู้ต่อไปยังพื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุดนั่นคือความมุ่งหวังตามภารกิจกขป.เพราะมีความหมายเพื่อประชาชน

          ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วนของเขตสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเน้นการบริหารจัดการของความปลอดภัย ด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยของอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษในบันทึกความร่วมมือต้องมีการประเมินผล นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน มองช่องทางชี้ประเด็นร่วมเพื่อความร่วมมือใน 8 จังหวัดของพื้นที่เขต 6



          ด้าน นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตอาหารส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารหากแต่ยังเป็นเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตด้านต่างๆ บทบาทของสช.เชื่อมประสานทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาทำงานเรื่องสุขภาวะ ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ และบทบาทของ กขป.ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการประสานนโยบาย เชื่อมโยงเป้าหมาย แผนงาน และกลไกระดับเขตอื่นๆ ซึ่งความสำคัญของบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัยคือ การตั้งเป้าหมายเชื่อมร้อยความร่วมมือของแต่ละภาคส่วน มาหนุนเสริมการทำงานและแก้ไขปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายนับเป็นความสำเร็จที่งดงามของเขต 6

        นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) แลกเปลี่ยนบทบาทในการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนอธิปไตยทางอาหารเป็นสิทธิในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่จะกำหนดระบบเกษตรกรรมและอาหารของชุมชนเอง และสนับสนุนทางด้านวิชาการ นโยบายในเรื่องเกษตรและอาหาร รวมถึงองค์ความรู้  จุดคาดงัดที่สำคัญในเรื่องความปลอดภัยเพื่อสร้างหลักประกันในเรื่องความยั่งยืนต้องวิเคราะห์ pain point อาหารที่ปลอดภัยในพื้นที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ทันที

        นางสาวศลิษา  ศัลยกำธร กรรมการมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า  การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นเรื่องร่วมของพื้นที่ ในบทบาทได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะความรู้ และประสบการณ์ ในการพึ่งพาตนเองตั้งอยู่บนหลัก 4 พอ นั่นก็คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น กับอาหารและวิกฤติในการขาดแคลน การบริโภคอาหารอย่างไม่ถูกต้อง การสร้างความเชื่อมั่นเสริมพลังจุดแข็งในเขตพื้นที่ 6 ต้องกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนทั้งในส่วนของพื้นที่ กลุ่มคน  ผู้ผลิต และเสริมความรู้สร้างความเข้าใจ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลังร่วมกัน



        นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  แลกเปลี่ยนเสริมจุดแข็งของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 ซึ่งต้องกำหนดทิศทางสำคัญสร้างประเด็นร่วมเพื่อเปิดพื้นที่ เสริมศักยภาพในการทำงาน โดยการทำงานของมพบ.มีการเผยแพร่ข้อมูลเฝ้าระวัง และพิทักษ์สิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและมีส่วนร่วมตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ตระหนักดีว่า ข้อมูล ความรู้คืออาวุธสำคัญของการขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัย ซึ่งต้องการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ในการร่วมดำเนินการในงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีส่วนร่วม 

        นายอมรินทร์ นิ่มนวล  ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคกลาง กล่าวว่าบทบาทการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change agents)ทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาชน หน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพและมองเป้าหมายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในการติดตามประเมินผลสำคัญของวาระอาหารปลอดภัยของพื้นที่เขต 6 ทำให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องทำเพื่อให้ความรู้ร่วมกับอสม. กองทุนสุขภาพตำบล และเสริมคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารปลอดภัย


        สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  และภาคีเครือข่าย 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดจันทบุรีจังหวัดตราด จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนวาระอาหารปลอดภัยในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ร่วมเสริมข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ ให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และให้ทุกหน่วยงานร่วมมือ กำกับ ติดตาม ประเมินผล และวางเป้าหมาย 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน 


สุภาภรณ์ ดำรงพันธ์ สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ 

 26 เมษายน 2566