กัญชาคือ ‘ยาเสพติด’ กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง และ ‘ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์’
หมายเหตุ : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เขียนบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ดังนี้
บทนำ
ตั้งแต่ก่อนปลดล็อกเมื่อ มิ.ย. ปีก่อน ประเทศไทยมีการใช้และเพาะปลูกกัญชากันอย่างแพร่หลายเปิดเผย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป อันเป็นกระแสสังคมที่ประสบความสำเร็จตามที่นักการเมืองได้ผลักดัน โดยมีนายทุนบางรายได้เตรียมเพาะปลูกกัญชาไว้ก่อนแล้ว เมื่อถึงเวลาปลดล็อก ก็ทันใจพร้อมรับประโยชน์ทางธุรกิจทั้งการแพทย์และสันทนาการ
หลังจากปลดล็อก เราได้เห็นร้านขายดอกกัญชาเน้นเมล็ดนอก ผุดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ริมรั้วมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ในขณะที่บนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ก็มีผลิตภัณฑ์ ทั้งดอก เมล็ด หรือ ผลิตภัณฑ์แปรรูป จำหน่ายอย่างคึกคัก
นอกจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว ยังมีบางประเด็นสำคัญที่ชุดข้อมูลที่เผยแพร่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และ ส่งผลเสียหายต่อประเทศในทางเศรษฐศาสตร์อันเกิดจากผลกระทบภายนอก (externalities)
1. กัญชา คือ ยาเสพติด
ผู้เขียนรู้สึกตลกตัวเองที่ต้องหาข้อมูลมายืนยันแย้งกับชุดข้อมูลที่ว่า “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” เพราะองค์การอนามัยโลกจัดให้สาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC เป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือมีโอกาสเสพติดได้ มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แม้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์
งานวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine หรือ Harvard T.H. Chan School of Public Health, Harvard University ต่างก็นิยามกัญชาเป็นยาเสพติด เช่น งานวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับการป้องการการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะกัญชาในวัยรุ่น โอกาสที่เพิ่มขึ้นในใช้ยาเสพติดชนิดรุนแรง (hard drugs) อันเป็นผลจาการใช้กัญชา หรือ ผลกระทบในระยะยาวของการเสพติดกัญชาในวัยรุ่น เป็นต้น
รายงานประจำปี 2565 โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ระบุว่า การทำให้กัญชาถูกกฎหมายในทวีปอเมริกาเหนือ ส่งผลต่อแนวโน้มทำให้มีการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชาเป็นยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ซึ่งมีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับอาการป่วยทางจิตเภท การฆ่าตัวตาย และ การใช้บริการในโรงพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น
2. กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันผลการรักษามะเร็งด้วยกัญชา โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกา หรือ National Cancer Institute ได้ประมวลความรู้จากฐานข้อมูล PubMed ของ National Institute of Health เป็นเว็บไซต์สาธารณะที่เผยแพร่งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่เพียงพอสำหรับ “การรักษาโรคมะเร็งด้วยกัญชา” ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารเผยแพร่เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ โดยแพทยสภา
ในทางการแพทย์ มีงานวิจัยที่ยืนยันผลทางการแพทย์ของกัญชาต่อการผ่อนคลายความวิตกกังวล รักษาอาการของโรคจิตประสาท ป้องกันการเสื่อมหรือตายของเซลล์ประสาท ต้านอาการอักเสบ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน โดยกัญชามีผลต่อระบบจิตประสาท คือ มีความเปลี่ยนแปลงต่ออารมณ์ ความรู้สึก การรับรู้ ความเครียด ความอยากอาหาร และความเจ็บปวด แต่ไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีขนาดตัวอย่างมากพอ หรือ เป็นงานวิจัยที่มีความเป็นระบบ (systematic research) ที่สามารถสรุปได้ว่า กัญชาสามารถรักษามะเร็ง
ทั้งนี้ “ตัวอย่างค้าน” (Counterexample) ของ “กัญชาสามารถรักษามะเร็ง” ได้แก่ กรณีคุณ Bob Marley ศิลปินเร็กเกระดับตำนาน ได้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งด้วยวัยเพียง 36 ปี ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เพราะกัญชามีสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่าการสูบบุหรี่หลายร้อยหลายพันเท่า
3. ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย
แม้ Food and Drug Administration (องค์การอาหารและยาของอเมริกา) ได้อนุมัติให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรักษาการคลื่นไส้อาเจียนอันเป็นผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งแบบคีโม และภาวะน้ำหนักตัวลดลงและอาการเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
แต่ข้อสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ กัญชาจะสามารถส่งผลเสียหายต่อระบบจิตประสาทในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งอัณฑะ และ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว ทำลายภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะ มีความสัมพันธ์กับการเสพติดประเภทอื่น เช่น บุหรี่ สุรา และสารเสพติดร้ายแรง นอกจากนี้ หากเยาวชนเสพกัญชาตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีผลทำลายพัฒนาการทางสมอง เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการจิตผิดปกติในระยะยาว และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางพันธุกรรมของอสุจิเพศชาย
สรุปส่งท้าย
กัญชาคือยาเสพติด กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง และ การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจะสร้างต้นทุนให้กับสังคมและระบบสาธารณสุข ดังนั้น การปลดล็อกกัญชาโดยไม่มีการควบคุมและไม่มีมาตรการรองรับ จะให้โทษมากกว่าประโยชน์ต่อสังคม
การสร้างชุดข้อมูลต่อสังคมไทยว่า กัญชารักษามะเร็งได้ พร้อมทั้งรักษาได้สารพัดโรค ตลอดจนมีนโยบายแจกต้นกัญชา 1 ล้านต้น ให้ 5 แสนครัวเรือน จึงต้องระมัดระวังและคิดให้รอบคอบถึงผลกระทบระยะยาว ทั้งความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามะเร็งอย่างถูกต้องทางการแพทย์ ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สมองตัดสินใจได้ช้าลง หรือมีการใช้กัญชาร่วมกับสุราหรือยาเสพติดประเภทอื่น ปัญหาการแพร่ระบาดของการเสพติดโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ปัญหาภาระสุขภาพ (burden of diseases) ของคนไทยจากการใช้กัญชา ปัญหาสืบเนื่องด้านภาระค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสำหรับระบบสาธารณสุข เป็นต้น
ในขณะที่รายงานการใช้ยาเสพติด ประจำปี 2565 โดย UNODC ได้รายงานแนวโน้มที่การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย สามารถผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้จากภาษี หรือ ตัวอย่างรัฐแมสซาซูเซตส์มีการเก็บภาษีจากกัญชาเพื่อสันทนาการรวมกันกว่า 20% ของมูลค่าธุรกิจกัญชา ทั้งภาษีขาย ภาษีสรรพสามิต และ ภาษีที่แต่ละเมืองสามารถกำหนดเอง ทำให้มีรายได้ภาครัฐที่จะมาลงทุนให้กับคุณภาพชีวิตประชาชนและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยกลับไม่สามารถทำให้มีการเก็บภาษีเป็นรายได้ของรัฐบาล
เนื่องจากการใช้กัญชาได้แพร่ระบาดในสังคมไปแล้ว เพราะภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย จึงควรที่จะต้องรีบแก้ปัญหาโดยหยุดการเปิดเสรีกัญชาอย่างไร้การควบคุมโดยเร็วที่สุด โดยจะต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้ กำหนดปริมาณถือครอง จำกัดการซื้อ กำหนดพื้นที่การเสพ มีมาตรการป้องกันเด็กและวัยรุ่น การควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ ตลอดจน การเก็บภาษีจากกัญชา
ไม่ใช่เปิดเสรีโดยเป็นภาวะสุญญากาศทางกฎหมายแล้วพยายามที่จะผลักดันกฎหมายเปิดเสรีตามหลัง ซึ่งพวกเราต้องช่วยกันติดตามเฝ้าระวังว่า กำลังจะมีเงื่อนไขเทคนิคทางกฎหมายที่ส่งให้คนเฉพาะกลุ่มได้รับประโยชน์หรือไม่ เหมือนกฎหมายสุราที่ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ได้ประโยชน์เต็มคาราเบล
https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/AtRama34_c02.pdf
https://researchonline.lshtm.ac.uk/id/eprint/19360/1/19360.pdf
http://dmri.lshtm.ac.uk/docs/coggans_es.pdf
https://www.health.harvard.edu/blog/teens-who-smoke-pot-at-risk-for-later-schizophrenia-psychosis-201103071676
https://academic.oup.com/book/27329/chapter/197030672
https://academic.oup.com/book/29516/chapter/248092456
https://axon.es/ficha/libros/9780128007563/handbook-of-cannabis-and-related-pathologies
https://www.unodc.org/unodc/frontpage/2022/June/unodc-world-drug-report-2022-highlights-trends-on-cannabis-post-legalization--environmental-impacts-of-illicit-drugs--and-drug-use-among-women-and-youth.html
https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/cam/patient/cannabis-pdq
https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/marijuana
https://tmc.or.th/pdf/fact/Info_cannabis_final_tmc.pdf
https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/complementary-and-alternative-medicine/marijuana-and-cancer.html
https://www.drugabuse.gov/publications/research-reports/marijuana/what-are-marijuanas-long-term-effects-brain
https://www.health.harvard.edu/heart-health/marijuana-and-heart-health-what-you-need-to-know
https://healthyhorns.utexas.edu/marijuana.html
https://www.ucsf.edu/news/2019/05/414471/legal-marijuana-reduces-chronic-pain-increases-injuries-and-car-accidents
https://today.uconn.edu/2019/03/facts-driving-marijuana-use/
http://groups.tti.tamu.edu/cades/files/2018/10/Marijuana-Driving-A-Look-at-Texans-Attitudes-and-Impact-on-Driving-Under-the-Influence-Final-Report.pdf
https://obgyn.duke.edu/news/reproductive-sciences-research-published-exposure-cannabis-alters-genetic-profile-sperm