มองทิศทาง ‘หลักประกันรายได้ผู้สูงวัย’ จากนโยบายกลุ่มพรรค ‘ว่าที่รัฐบาลใหม่’ คาดคนไทยมีบำนาญ 3,000 บาทได้จริง หากไม่มีอุปสรรค ’ตัวแปร’ ทางการเมือง
16 พฤษภาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ประเด็นของรัฐสวัสดิการอย่าง “หลักประกันรายได้” หรือ บำนาญภาคประชาชน” กลายเป็นกระแสที่ถูกจุดประกายขึ้นมาในสังคมนับตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ซึ่งภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนได้ร่วมกันมีฉันมติเรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ”

 

แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาของการเดินหน้าหาเสียง หลายพรรคการเมืองได้ชูประเด็นเหล่านี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่ตั้งใจจะขับเคลื่อน โดยร่วมแสดงพันธะสัญญาและจุดยืนในการทำให้เกิด “บำนาญประชาชน” ควบคู่กับอีกหลายมาตรการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณอายุให้กับคนไทย

 

มาจนถึงวันนี้ คนไทยต่างได้ทราบผลคะแนนของพรรคการเมืองที่ได้อันดับ 1 และอันดับอื่นๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด และการจัดตั้งรัฐบาลสามารถเดินหน้าได้ตามผลคะแนนเสียงของประชาชน ช่วงเวลาหลังจากนี้จะเข้าสู่โหมดของการปฏิบัติ ภายใต้การบริหารของคณะรัฐบาลชุดใหม่

 

เมื่อประเมินจากฐานคะแนนเสียง และแนวโน้มในการจัดตั้งรัฐบาลจากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน (16 พ.ค. 2566) Health Station ได้รวบรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันรายได้ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีโอกาสเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ว่าได้มีการหาเสียงและให้ทิศทางในเรื่องเหล่านี้เอาไว้อย่างไร

 

เริ่มจากผู้กุมคะแนนอันดับ 1 อย่าง พรรคก้าวไกล ได้ประกาศนโยบายเอาไว้ถึงการสร้างหลักประกันรายได้ หรือบำนาญผู้สูงอายุ ที่จะจ่ายให้เดือนละ 3,000 บาท อย่างถ้วนหน้าภายในปี 2570 โดยเป็นการปรับจากเบี้ยยังชีพเดิมที่จ่ายให้ 600 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,500 บาทในปีแรก และค่อยๆ ปรับต่อเนื่องเป็นขั้นบันได

 

ขณะที่มาตรการอื่นๆ ได้มุ่งไปที่การสร้างโอกาสปลดหนี้ให้กับผู้สูงอายุ เช่น การลดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง การปลูกป่าชำระหนี้ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในชุมชนเพื่อแบ่งรายได้ เป็นต้น ตลอดจนจัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว โดยให้รายละ 9,000 บาทต่อเดือน เพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้าน ติดเตียง

 

ตามมาที่เจ้าของคะแนนอันดับ 2 อย่าง พรรคเพื่อไทย มีแนวนโยบายสำคัญที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง ผ่านนโยบาย Digital Wallet จำนวน 10,000 บาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่จะจ่ายให้กับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปใช้จ่ายใกล้บ้านภายในระยะ 4 กิโลเมตร เป็นช่วงเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินขนาดใหญ่ลงไปหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ

 

ส่วนเป้าหมายอื่นๆ เช่น จะมีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสุขภาพจิต สนับสนุนการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นต้น ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้ง “สถานชีวาภิบาล” กระจายในทั่วประเทศเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย

 

ถัดมาที่ พรรคไทยสร้างไทย ได้ให้แนวทางถึงการรับมือสังคมผู้สูงอายุไว้ใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การคืนชีวิตให้ผู้สูงอายุ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ ผ่านนโยบาย 30 บาทพลัส ที่จะช่วยให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายและประหยัดขึ้น มีการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนมีคะแนน Health Credit ที่สามารถสร้างผลประโยชน์จากการดูแลสุขภาพ เพื่อนำไปใช้ในการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายที่จะจัดสรรเงินบำนาญให้ผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท ด้วยเช่นเดียวกัน

 

ในขณะที่อีกส่วน คือการยกระดับศักยภาพของผู้สูงอายุ โดยจะสร้างการจ้างงานผู้สูงอายุในระดับชุมชน เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ผู้สูงวัย ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนสร้างไทย ขึ้นมาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกัน

 

นอกจากนี้อีก 2 พรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ รายละ 3,000 บาทต่อเดือน ยังรวมถึง พรรคประชาชาติ ซึ่งแม้จะมีฐานเสียงหลักที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ได้ย้ำถึงมาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุในทั่วประเทศ เช่นเดียวกับ พรรคเสรีรวมไทย ที่นอกจากบำนาญผู้สูงอายุแล้ว ยังสนับสนุนแนวคิดขยายอายุเกษียณข้าราชการ จาก 60 ปี เป็น 65 ปีด้วย

 

จากข้อมูลข้างต้นพอจะทำให้มั่นใจได้ว่า หากพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านี้อยู่ในองค์ประกอบของรัฐบาลชุดต่อไป แนวคิดการให้บำนาญผู้สูงอายุนั้นดูเป็นทิศทางที่น่าจะต้องเกิดขึ้น ทว่าเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงตัวแปรทางการเมืองอื่น ที่อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงบำนาญผู้สูงอายุที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง

 

ความเห็นจากนักวิชาการที่ติดตามในเรื่องนี้อย่าง ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า แม้บำนาญประชาชนจะเป็นข้อเรียกร้องจากทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมทั้งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งภาคการเมืองเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง แต่จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันก็อาจเห็นได้ถึงอุปสรรค

 

เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มที่ถูกคาดหมายจะเป็นพรรครัฐบาล มีเป้าหมายการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ยังต้องเผชิญกับตัวแปรทางการเมืองอื่นๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคให้พรรคการเมืองเหล่านี้ขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มการเมืองเดิม หรือกลุ่มอำนาจทุนเดิมที่อาจเสียประโยชน์ไป เพราะการทำบำนาญประชาชน อาจจะต้องมีการปฏิรูปด้านงบประมาณ รวมถึงการใช้เครื่องมือด้านการคลังต่างๆ ที่แตกต่างจากเดิม

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่บำนาญภาคประชาชนเป็นคาดหวังของคนไทยในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนเองได้เคยเสนอร่างกฎหมายบำนาญประชาชนหลายฉบับ แต่ก็ถูกปัดตก ยิ่งกว่านั้น รายงานเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อพฤษภาคม ปี 2565 และผ่านการเห็นชอบจากสภา ซึ่งขั้นตอนต่อมาคือนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อ แต่กลับถูกปัดตกไปและไม่เกิดการขับเคลื่อนใดๆ ตามมา

 

ดังนั้น หลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ ประชาชนจึงกำลังคาดหวังอีกครั้งว่าภาคการเมืองจะสนใจขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้หาเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

 

“แต่ที่ห่วงคือ หากดำเนินการจริงๆ อาจมีผลกระทบ หรือตัวแปรต่างๆ ที่ทำให้ไม่สำเร็จ เพราะจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณของประเทศ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่การปรับเปลี่ยนที่ว่าจะมีผลกระทบต่อกลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจเดิม หากมีการปฏิรูปงบประมาณและภาษีประเทศใหม่ เพื่อจัดสรรให้แบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้นและสามารถนำงบประมาณมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่สำคัญต่อประชาชน แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญในเวลานี้ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาล” ดร.ทีปกร ให้ความเห็น

 

ขณะที่มุมมองจากภาคประชาชน ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ให้ความเห็นว่า บำนาญผู้สูงอายุ คือระบบสวัสดิการของประชาชนที่จะเป็นการดำเนินการจากภาครัฐในรูปแบบระยะยาว ดังน้ันหากรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามาบริหารจะเดินหน้าทำบำนาญผู้สูงอายุ ก็แน่นอนว่าจะผูกมัดกับระบบการเงิน การคลังของประเทศ ดังนั้นบำนาญผู้สูงอายุจึงอาจต้องถูกดำเนินการให้เป็นกฎหมาย

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็จะต้องสนับสนุนและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการออมเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ตลอดช่วงอายุก่อนถึงวัยเกษียณด้วย ซึ่งปัจจุบันแม้เราจะมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกลไกของรัฐผู้ทำหน้าที่ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการออมเงิน แต่ก็ดูเหมือนจะยังขาดรายละเอียด หรือแนวทาง ที่จะสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการออมในหมู่ประชาชนอย่างจริงจัง

 

“บำนาญผู้สูงอายุ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว แต่บำนาญผู้สูงอายุจะต้องมาพร้อมสิทธิประโยชน์ เป็นรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ และการดูแบบแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต ตลอดจนการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่างๆ  ทั้งที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เป็นกิจกรรมจิตอาสาทางสังคม” เธอระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนภาคประชาชนรายนี้ยังมองด้วยว่า นอกจากเงินบำนาญที่มีครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะต้องมีระบบสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับประชาชนผ่านการออมเงิน หรือมีระบบการออมเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้ประชาชนร่วมออมเงินมากขึ้น เพื่อเก็บออมจากการประกอบอาชีพต่างๆ ก่อนที่จะได้รับเงินบำนาญเมื่อสูงอายุตามกฎหมาย