ภาพสะท้อนอนาคต 10 ปีข้างหน้า ‘ระบบบริการสุขภาพ’ รองรับผู้สูงวัย งานวิจัยเน้นย้ำความสำคัญ ‘ท้องถิ่น’ คนส่วนใหญ่เข้าถึง ร้านขายยา-รพ.สต.
22 พฤษภาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อไม่นาน และคาดว่าในปี 2580 ก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดด้วยตัวเลขของกลุ่มประชากรในวัย 65 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 30% ของคนทั้งประเทศ

 

ในมิติของสุขภาพ แน่นอนว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ และที่พึ่งหลักสำหรับผู้สูงอายุก็ยังคงจะเป็นสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะกับหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ

 

น่าสนใจว่าเมื่อไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สถานพยาบาล หรือหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ จะมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการเพื่อรองรับกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีการรับมือเมื่อเกิดโรคระบาด หรือโรคอุบัติใหม่ต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาได้เพียงใด

 

บนโจทย์ของทิศทางข้างหน้าสำหรับสถานพยาบาล มีงานวิจัยที่ชื่อว่า การศึกษาเชิงนโยบายใน 10 ปีข้างหน้าต่อการเข้าถึงการบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ จังหวัดปทุมธานี ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 5” โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ทำให้เราพอเห็นภาพว่าสถานพยาบาลต่างๆ ในอนาคต น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพกับผู้สูงอายุได้อย่างไร

 

งานศึกษาที่นำโดยคณะทีมวิจัยของ ดร.ลภัสรดา หนุ่มคำ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ได้ดำเนินการบนโจทย์ที่ว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพมีข้อจำกัดมากขึ้น บวกกับการรับรู้ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุที่จำกัด จึงนำมาสู่การศึกษาถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้งานวิจัยได้ถูกต่อยอดศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาบริการสุขภาพ ทั้งในแง่ของการเกิดโรคอุบัติใหม่ โรคระบาด และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุใน 10 ปีข้างหน้า

 

ภายใต้การเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ .ปทุมธานี จากทุกกลุ่มตัวอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มของผู้ให้บริการสุขภาพ กลุ่มผู้รับบริการ รวมไปถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เชื่อมโยง ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ทำให้ทีมวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิง กว่า 73% จะเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ที่เข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเฉลี่ยอายุระหว่าง 60-69 ปี

 

ในขณะที่หน่วยบริการที่ผู้สูงอายุเลือกใช้ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย มากที่สุดคือร้านขายยาคิดเป็น 55.9% รองลงมาคือรพ.สต.” คิดเป็น 23.7% แต่เมื่อจำเพาะลงมาว่าหากต้องพบแพทย์ หรือไปรับยาตามนัด ผู้สูงอายุจะเลือกไปพบแพทย์ที่ รพ.สต. มากที่สุด คิดเป็น 33.2% รองลงมาคือ โรงพยาบาลอำเภอ 28.2%

 

สำหรับข้อมูลที่ได้ ทีมนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ต่อมาถึงแนวทางการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงหากเกิดโรคอุบัติใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า เฉกเช่นเดียวกับโควิด-19 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ซึ่งพบว่ามีอยู่ 4 องค์ประกอบ ที่เป็นปัจจัยพัฒนาระบบริการสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ

 

ปัจจัยที่ว่าประกอบด้วย 1. ด้านบริการ โดยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางไกล พัฒนาระบบบริการเชิงรุก นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ พัฒนาหน่วยบริการเฉพาะผู้สูงอายุ พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการจัดการสุขภาพผู้สูงอายุรายกรณี พัฒนาเตียงผู้ป่วยที่บ้านและประสานความร่วมมือในการดำเนินงานกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

 

2. ด้านวิชาการ โดยการพัฒนาหลักสูตร จัดบริการวิชาการ กำหนดมาตรการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พัฒนาอัตลักษณ์ของหลักสูตรและพัฒนาเครือข่ายในการจัดการศึกษา

 

3. ด้านการวิจัย โดยวิจัยด้านการพัฒนายาและวัคซีน วิจัยและพัฒนานวัตกรรม และวิจัยด้านการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและเทคโนโลยี

 

4. นโยบายด้านการบริหารของหน่วยงานสาธารณสุข และ อปท. ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร การจัดหาเครื่องมือ เวชภัณฑ์ การสร้างและขยายหน่วยบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

 

เมื่อมองไปถึงแกนหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เราพอเห็นภาพอนาคตได้ว่า การบริการสุขภาพของผู้สูงอายุควรจะเป็นเช่นไร ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปออกมาให้เห็นด้วยว่า สถานพยาบาลจะต้องเตรียมพร้อมการบริการให้เพียงพอ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ และมีความรู้ ทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ

 

ขณะเดียวกัน ยังรวมไปถึงการที่จะต้องมีสถานที่ที่สะดวกต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการจัดระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน อันจะมีความสำคัญต่อการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

 

อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลไม่อาจทำได้เพียงลำพังเพียงหน่วยงานเดียว โดยงานวิจัยยังสะท้อนว่า อปท. จะต้องเข้ามาหนุนเสริมเพื่อพัฒนาระบบบริการ และเชื่อมการประสานงานร่วมกันกับสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อดูแลผู้สูงอายุร่วมกัน และทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ผ่านการได้รับบริการสุขภาพที่ปรับเปลี่ยนเพื่อคนสูงวัย

 

อ้างอิง: https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5780/hs2918.pdf