ใช้ ‘วัด’ เป็นฐานสร้างพื้นที่ ‘ปลอดบุหรี่’ หยุดพฤติกรรมสูบ ‘พระสงฆ์-สามเณร’ ภาคีร่วมหนุนบทบาทพระเป็นแกนนำ ช่วยชุมชน-ญาติโยม ลด-ละ-เลิกบุหรี่
23 พฤษภาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่จัดเก็บข้อมูลประชากรที่สูบบุหรี่ มีนัยสำคัญที่น่าสนใจ เพราะมีการกระบุถึงตัวเลขของสามเณรที่สูบบุหรี่เอาไว้ โดย “23%” คือจำนวนของสามเณรที่เคยสูบบุหรี่ และ “32%” คือตัวเลขของสามเณรที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

แม้ว่าวัด และสถานที่ทางศาสนาเหล่านี้ จะถูกขับเคลื่อนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่าการดำเนินงานนั้นยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

บนเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานวัดปลอดบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาวะวัดและชุมชน โดยเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากระหว่างภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิโพธาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 22 .. 2566 ได้มีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเพื่อให้วัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ได้จริง รวมไปถึงการค้นหาความหมายว่าแท้จริงแล้วในหลักธรรมทางพุทธศาสนา การสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ สามเณร ถือว่าผิดวินัย หรือแม้แต่ผิดศีล 5 หรือไม่

 

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า การสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ หรือสามเณร ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันว่าผิดหรือไม่ผิด แม้ว่าจะมีงานวิจัยและการวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่ยืนยันได้ว่าผิด

 

พระวิสิทธิ์ ระบุว่า แม้จะมีความเห็นต่างอยู่ แต่อยากให้มองถึงเจตนาศีล โดยการมีศีลคือเจตนาที่ทำแล้วร่างกายสุขภาพดีขึ้น แต่จะผิด ถ้าเจตนานั้นทำแล้วเกิดการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ที่นอกจากศีล 5 จะด่างพร้อย ยังมีผลกระทบไปถึงเบญจธรรม คือ เมตตา กรุณา ซึ่งการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ จะเป็นการปราถนาดีหรือไม่ ก็คงเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่าการสูบบุหรี่สำหรับพระสงฆ์นั้น ผิดหรือถูก

 

กระนั้น แม้ว่าการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์จะไม่มีบัญญัติในพระธรรมวินัย แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่มีโทษต่อร่างกาย เมื่อเข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ การลด ละ เลิก ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการใช้ข่มใจ เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ถ้าเลิกได้เมื่อมาบวชเป็นพระ ก็นับเป็นอานิสงส์

 

อีกทั้งหากพูดถึงเรื่องการเลิกบุหรี่ ให้กับญาติโยมได้รับฟัง และเป็นต้นแบบตัวอย่างในการเลิกบุหรี่ ก็จะช่วยสังคมได้อีกทาง และยังเป็นการสร้างบุญให้สุขภาพของคนในชุมชนดีมากขึ้น

 

คนที่เข้ามาบวช ก็คือคนในชุมชน หากมาบวชแล้วเลิกบุหรี่ได้ ก็จะเป็นการส่งต่อบุญให้กับคนในชุมชนได้ทำตาม เพราะนี่คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม หรือในวัดจะต้องมีกิจกรรม และขับเคลื่อนให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อให้ชุมชนได้รู้ว่า วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเป็นพื้นที่ห้ามสูบพระวิสิทธิ์ สะท้อนความเห็น

 

ในมุมของสุขภาพพระสงฆ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องของบุหรี่ .นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ำชัดเจนว่า ถ้าหากพระสงฆ์งดสูบบุหรี่ได้ ก็จะสามารถป้องกันโรคภัยได้อีกจำนวนมาก

 

สำหรับปัจจุบัน โรงพยาบาลสงฆ์แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีพระเข้ามารักษามากกว่า 1 หมื่นรูปต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ที่นำไปสู่โรคปอด หัวใจและหลอดเลือด เหมือนกับฆราวาสทั่วไป

 

.นพ.บรรณกิจ เสริมข้อมูลว่า นอกจากความอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อพระสงฆ์ รวมถึงประชาชนแล้ว ยังมีประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารนิโคติน สารเสพติด ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มีผลต่อเส้นเลือด กระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน อีกทั้งยังเป็นต้นทางนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าตามกฎหมายจะระบุให้วัด โรงเรียน ปลอดบุหรี่ 100% แต่ในความเป็นจริงยังขับเคลื่อนไม่ได้อย่างจริงจัง ดังนั้นทางออกที่พอจะแนะนำกันได้ในตอนนี้คือห้ามจัดพื้นที่สูบซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการสูบบุหรี่มากขึ้น และอาจทำให้พระสงฆ์ รวมถึงญาติโยมที่มาเข้าวัดได้เลิกบุหรี่

 

ด้าน ศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. เสริมข้อมูลว่า ภาคีเครือข่ายโดย สสส. พร้อมด้วยมูลนิธิโพธิยาลัย กำลังร่วมกันวางเป้าหมายในการสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนวัด และศาสนสถาน ให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และสุราให้ได้ใน 19 จังหวัด พร้อมพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ให้เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ 42 แห่ง เพื่อนำร่องให้เห็นเป็นตัวอย่าง สู่การต่อยอดขยายพื้นที่วัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นพื้นที่ที่ปลอดบุหรี่ได้ทั้งหมดต่อไป

 

นอกจากนี้ยังตั้งใจที่จะให้วัด เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างเสริมสุขภาวะ โดยพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมไปถึงสร้างแกนนำพระสงฆ์เพื่อช่วยคนในชุมชนให้สามารถเลิกบุหรี่ได้

 

พระสงฆ์จะเข้ามามีบทบาท ผ่านการหนุนเสริมให้เป็นแกนหลักในชุมชน เพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ ได้เข้าถึงช่องทางการเลิกบุหรี่ ทั้งการให้คำแนะนำที่ถูกต้อง การให้กำลังใจ และส่งต่อไปยังสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ขณะที่ชุมชน ญาติโยม ก็จะได้ร่วมเฝ้าระวังไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในวัดเขาขยายความ

 

ในช่วงท้าย ศรีสุวรรณ ยังได้ให้ภาพเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการในการช่วยพระสงฆ์ สามเณร รวมไปถึงพุทธศาสนิกชน ลด ละ เลิกบุหรี่ โดยใช้วัดเป็นฐานการขับเคลื่อน นับว่ามีผลงานที่น่าชื่นชม เห็นได้จากใบอธิษฐานจิต ที่พบว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามงดเหล้าบุหรี่ จำนวน 13,227 คน โดยกระจายไปตามวัดต่างๆ จำนวน 3,000 แห่ง

 

พร้อมกันนี้ได้มีพระสงฆ์จำนวน 147 รูป ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งพระที่เลิกบุหรี่ได้ จะได้รับการอบรมเป็นพระคิลานุปัฏฐาก ที่จะใช้กระบวนการสงฆ์ พระธรรมวินัย ในการห้ามสูบบุหรี่ให้กับพระสงฆ์ด้วยกันเอง

 

สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์ รวมถึงญาติโยมในชุมชนละแวกวัด ด้วยการสนับสนุนให้ลด ละ เลิกบุหรี่ให้เป็นวงกว้าง นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่วัด และพระสงฆ์ จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพที่ดี ทั้งในแง่ปัจเจกบุคคล และชุมชนโดยรอบวัด ซึ่งสอดรับกับหลักการของ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งกำลังเตรียมที่จะประกาศใช้ในเร็วนี้

 

หัวใจสำคัญของธรรมนูญฯ ดังกล่าวคือใช้หลักธรรมนำทางโลกที่จะมุ่งเป้าหมายให้มีพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี รวมถึงบุคลากรของวัดที่เจ็บป่วย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ขณะที่ในอีกด้านก็จะทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพของชุมชน ด้วยการเยียวยาด้านจิตใจ ให้กำลังใจกับญาติโยม ผู้ป่วยในชุมชนผ่านธรรมะ รวมไปถึงสามารถแจ้งข่าวสารด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนได้ด้วย