อนาคตเมืองกรุง ในมือ ‘ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.’ กับเสียงสะท้อนที่ไม่อาจไม่รับฟัง
21 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในระยะเวลาอันใกล้ คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้ง พ่อเมืองคนใหม่ราวๆ เดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนแก่สื่อมวลชนอย่างชัดถ้อยชัดคำ

 

ความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่าภายในวันนี้ (21 ก.พ. 2565) กระทรวงมหาดไทย (มท.) จะหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดวันจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงนายกเมือพัทยา ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

 

รายงานข่าว ระบุอีกว่า มีความเป็นไปสูงที่วันเลือกตั้งอาจจะเป็นวันที่ 22 พ.ค. 2565 หรือ 29 พ.ค. 2565 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ทั้งคู่

 

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้มีว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วอย่างน้อย 4 ราย โดยมีทั้งผู้ที่สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ และผู้ที่ลงสมัครในนามอิสระ

 

ผลสำรวจความคิดเห็นกระแสนิยมจากสำนักโพลต่างๆ ถูกนำเสนอออกมาเป็นระลอก บรรยากาศการหาเสียงได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ เราจึงได้เห็นป้ายโฆษณา ข้อความประชาสัมพันธ์ ตลอดจนมูฟเมนต์ของว่าที่ผู้สมัครฯ ที่พยายามเร่งทำคะแนนเพื่อยึดกุมพื้นที่ในหัวใจของคนกรุง

 

แม้ว่า กทม. จะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย แตกต่างและสลับซับซ้อน หากแต่ กทม. ก็ยังมี จุดร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะความเป็น ชุมชนเขตเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา และกระทบต่อสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนนอก กทม. จะได้ร่วมกันรับฟังวิธีคิด วิสัยทัศน์ ไอเดีย ต่อประเด็นปัญหาในมิติต่างๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอด-ขยายผลในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในทุกพื้นที่-ทุกระดับ

 

ข้อมูลจากยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570 ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์กรภาคีเครือข่าย พบว่าขณะนี้ เขตเมือง กำลังเต็มไปด้วยปัญหาหนักอก

 

สาระสำคัญในยุทธศาสตร์นี้ ได้อธิบายให้เห็นถึงข้อจำกัดหลายประการในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองและ กทม. อย่างมีส่วนร่วม อาทิ ความแตกต่างของนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ รูปแบบการจัดระบบบริการสุขภาพ ระบบส่งต่อ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน งบประมาณและการเบิกจ่าย

 

สอดคล้องกับ เอกสารหลักของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 8.3 ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ที่ขมวดประเด็นเอาไว้ว่า ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองได้รับการพัฒนาแบบแยกส่วน และไร้ทิศทางที่ชัดเจน ภาพรวมส่งผลให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมืองนั้นมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

 

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน บอกว่า ในเขตเมืองค่อนข้างจะมีปัญหาในทุกระบบ ตั้งแต่คัดกรองโรคไปจนถึงการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากมีประชากรเยอะ แต่หน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary care) กลับกระจัดกระจายและไม่ได้ถูกพัฒนา สุดท้ายแล้วก็ไม่พอ แตกต่างกับชนบทที่มีโครงสร้างบทบาทหน้าที่ชัดเจน มีผู้ดูแลที่ต่อเนื่อง ไม่ได้มีหลายหน่วยงาน เป็นผลให้การแก้ปัญหานั้นเป็นไปได้ง่าย

 

ระบบบริการสุขภาพในเขตเมืองก็อยู่ในหลายมือของหลายหน่วยงานบริการ อย่างใน กทม. ก็ชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในมือของ สธ. และยังมีโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย-โรงเรียนแพทย์ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เมื่อมีหลายมือก็เกิดปัญหาเรื่องการประสานงาน และการจัดบริการต่างๆ ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าระบบบริการในชุมชนเมืองมีปัญหาแยกส่วน ในขณะที่ประชากรก็ลำบาก เธอ ระบุ

 

สำหรับข้อเสนอซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570 หยิบยกขึ้นมานำเสนอมีด้วยกัน 3 ประเด็นใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ควรให้น้ำหนักความสำคัญ ประกอบด้วย

 

1. การให้บริการสุขภาพ ได้แก่ การจัดระบบบริการสุขภาพในเขตเมืองยังมีความซ้ำซ้อนระหว่างผู้ให้บริการสุขภาพ การกระจายตัวของหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่เขตเมืองไม่ครอบคลุมประชาชนบางส่วน ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการระดับปฐมภูมิ ทำให้ไปรับบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หน่วยบริการสุขภาพในเขตเมืองยังมุ่งเน้นการจัดบริการสุขภาพในเชิงของการรักษาพยาบาลและการตั้งรับมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันควบคุมโรค

 

2. การเงินการคลังสุขภาพ ได้แก่ ระบบการซื้อบริการสุขภาพของกองทุนรัฐยังไม่สามารถทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อปท.ที่เข้าร่วมในการจัดบริการสุขภาพไม่สามารถนำเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปใช้ในการจ้างบุคลากรด้านสุขภาพมาให้บริการประชาชนได้ การจัดบริการสุขภาพในเขตเมืองประสบปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณในการจัดบริการสุขภาพ มาตรการทางการเงินการคลังสุขภาพยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมสุขภาพและการใช้บริการสุขภาพของประชากรในเขตเมือง

 

3. การบริหารระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม (ภาวะผู้นำและการอภิบาล) ได้แก่ การบริหารระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการสุขภาพที่อยู่ต่างสังกัดกันนั้น ยังมีอยู่น้อยการวางแผนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งด้านบุคลากรสุขภาพ ระบบข้อมูลสารสนเทศ และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงยังมีน้อย

 

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ จะช่วยเป็น สารตั้งต้น ในการทำความเข้าใจปัญหาเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายของ ว่าที่พ่อเมือง กทม. คนใหม่ และเป็นข้อมูลสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 

ตอนหนึ่งของบทความคอลัมน์ คุยกับเลขาธิการ ในนิตยสารสานพลัง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเขียนโดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า การที่ประชาชนจะเป็นผู้เลือกผู้บริหารทั้งระดับประเทศและผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่เข้ามาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (Health in All Policies) ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

 

ทั้งมติสมัชชาสุขภาพ กทม. และ ธรรมนูญสุขภาพเขตพื้นที่ กทม. นั้น ล้วนแต่เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยมีหัวใจอยู่ที่กระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ กทม. และเขตเมืองทั่วประเทศที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน แตกต่าง หลากหลาย และเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร โดยเฉพาะว่าที่พ่อเมือง กทม.คนใหม่ควรนำไปปรับใช้ประกอบการจัดทำนโยบาย เพื่อนำพา กทม. ไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะดีอย่างแท้จริง

 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นว่าที่ผู้สมัครฯ หรือสมาชิกสภา กทม. หากมีความเข้าใจและมองเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับสิทธิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน ถ้าตระหนักในเรื่องนี้ ปัญหาต่างๆ ก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น

 

นี่จะเป็นโอกาสที่ดีของว่าที่ผู้สมัครฯ ที่จะหยิบยกมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปประยุกต์เข้ากับการจัดทำนโยบายเพื่อใช้หาเสียงได้ทันที นั่นเพราะมติสมัชชาสุขภาพฯ เกิดขึ้นจากปัญหาที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน เป็นผลมาจากที่พี่น้องประชาชนได้พูดคุยปรึกษาหารือกันว่า นี่คือปัญหาที่สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวมเร็ว โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม นพ.ปรีดา ระบุ

 

นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า นอกเหนือไปจากลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาแล้ว ว่าที่ผู้สมัครฯ ยังสามารถนำมติสมัชชาสุขภาพฯ และเนื้อหาในธรรมนูญสุขภาพฯ มาใช้ทบทวนปัญหาอย่างเป็นระบบและรอบด้าน เพราะสิ่งเหล่านี่คือความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้นโดยมีข้อเท็จจริงและความเป็นวิชาการ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่ง

 

อนึ่ง จนถึงขณะนี้มีการจัดสมัชชาสุขภาพฯ มาแล้ว 2 ครั้ง และมีมติสมัชชาสุขภาพ กทม. รวมทั้งสิ้น 4 มติ แบ่งเป็น สมัชชาสุขภาพ กทม. ครั้งที่ 1 จำนวน 2 มติ ได้แก่ 1.1 ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร 1.2 การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร และ สมัชชาสุขภาพ กทม. ครั้งที่ 2 จำนวน 2 มติ ได้แก่ 2.1 การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน และ 2.2 การพัฒนาระบบสุขภาพบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ