บทสนทนากับ ‘นักผังเมือง’ ในวันที่ ‘Public space’ ไม่ได้อยู่ในสมการของเมืองกรุง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความสะดวกสบายและความคุ้นชิน อีกส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะ “ไม่มีทางเลือก” เราจึงมักใช้เวลาว่างในวันหยุดไปกับห้างสรรพสินค้าแอร์เย็นเฉียบ
ฟากฝั่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เคยตั้งประเด็นว่า การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น นั่นหมายถึงปริมาณถ่านหินที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ฟากฝั่งนักผังเมือง มองว่า เมืองฟ้าอมรแห่งนี้ มีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่มากกว่า 170 แห่ง แต่กลับมีสวนสาธารณะที่ทำหน้าที่เป็นปอดฟอกอากาศอันบริสุทธิ์อยู่ราว 35 สวน นั่นสะท้อนถึงความไม่สมดุล
ในสายตาของคนทั่วไป แน่นอนว่า “ห้างสรรพสินค้า” มีประโยชน์และไม่ได้เป็นโจทย์ในสมการที่ผิดพลาด หากแต่จะดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ ถ้าเรามี “พื้นที่สาธารณะ” (Public space) สำหรับใช้ประโยชน์ได้ในทุกวัน-ทุกคน-ทุกช่วงวัย
ในช่วงรอยต่อที่จะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อนที่จะประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ “Health Station” ได้พูดคุยกับ “ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระ ถึงจุดเปลี่ยนทางสุขภาวะของ กทม. ด้วยการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วกรุง
พื้นที่สาธารณะเป็นได้ทุกจุด ทุกขนาด
ภารนี เริ่มต้นจากการให้คำนิยาม “พื้นที่สาธารณะ” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า พื้นที่สาธารณะนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่สีเขียว หากยังรวมถึงพื้นที่ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โล่ง พื้นที่ในอาคาร ทางเท้า เกาะกลาง ใต้ทางด่วน ริมทางรถไฟ ฯลฯ
“ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้เป็นพื้นที่ของเมืองที่นำมาพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้ผู้คนในชุมชนได้ เหล่านี้คือพื้นที่สาธารณะทั้งสิ้น
“หากได้นิยามแบบนี้ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นได้ทั้งพื้นที่ของราชการ และพื้นที่ของเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ โดยที่ผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้สูงหรือมีรายได้น้อย ต้องสามารถเข้าถึงได้”
ในส่วนของ กทม. ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และที่ดินมีราคาแพง จึงทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างขึ้นตามมา ดังนั้นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะใน กทม. จึงจะมีประโยชน์ทั้ง 1. แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควัน หรือมลพิษ โดยพื้นที่สาธารณะแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ในอาคาร แต่หากมีการจัดสัดส่วนให้ดี ก็ต่างมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
2. สุขภาวะของผู้คนที่ดีขึ้น เพราะเมื่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในเมืองดีขึ้น ก็จะทำให้สุขภาวะของคนในชุมชนดีตาม 3. พื้นที่สาธารณะไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่พบปะของผู้คนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในด้านต่างๆ เช่น ด้านศิลปะวัฒนธรรม ด้านสุขภาพ 4. มิติทางเศรษฐกิจ หากมีการสร้างเสริมอาชีพให้ชุมชน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งเสริมให้เกิดการหารายได้ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเมือง
“จากความสำคัญต่างๆ เหล่านี้ เห็นได้ว่าพื้นที่สาธารณะจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาของเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติ รวมถึงภาวะวิกฤติได้ด้วย” ภารนี ระบุ
พื้นที่สาธารณะ การเข้าถึงก็ต้องสาธารณะ
สำหรับพื้นที่สาธารณะใน กทม. ที่มีการจัดเป็นระเบียบเรียบร้อยยังมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อพื้นที่สาธารณะไม่ครอบคลุมทุกเขต-ทุกชุมชน จึงเป็นการจำกัดการเข้าถึงของผู้คนตามไปด้วย
ในส่วนของการดูแลจัดการ “ภารนี” มองว่า ยังเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ ซึ่งภาระการดูแลจะอยู่ที่หน่วยงาน หรือองค์กรที่รับผิดชอบเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน หากแต่มักไม่ค่อยเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ
เธอระบุว่า จากการสำรวจพบว่าใน กทม. นั้นมีปริมาณพื้นที่ที่มีศักยภาพ พร้อมจะพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอยู่มาก โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งเนื่องมาจากผู้คนมองข้ามพื้นที่ขนาดเล็กที่ไม่ได้ถูกพัฒนา ซึ่งถ้าหากเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะได้ สัดส่วนของพื้นที่มีเขียวก็จะมีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือเอื้อต่อการให้ “ผู้คนทุกกลุ่ม” เข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น
“บางสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ห้างสรรสินค้า ในย่านของผู้มีรายได้สูง คนที่มีรายได้น้อยก็อาจไม่กล้าใช้ หรือกิจกรรมที่จะเข้าไปใช้ก็มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือผู้มีรายได้น้อย จะไม่ค่อยมีสวนสาธารณะให้ใช้” นักวิชาการอิสระด้านผังเมืองรายนี้ ระบุ
ในส่วนพื้นที่สาธารณะที่เป็นของรัฐ เธอระบุว่า ผู้คนมักจะนึกถึงเพียงสวนสาธารณะและพื้นที้สีเขียว แต่แท้จริงแล้วพื้นที่ต่างๆ ของรัฐล้วนสามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ริมทางรถไฟ ฯลฯ
สำหรับรูปธรรมของการจัดการพื้นที่สาธารณะที่เธอยกขึ้นมาให้เห็น คือพื้นที่ของ “วัดสุทธิวราราม” ที่ได้มีการนำพื้นที่ลานจอดรถมาแปรสภาพเป็นพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร เพื่อให้ชุมชนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมไปด้วยกันได้
ขณะที่อีกตัวอย่างหนึ่งคือพื้นที่บริเวณ “ข้างสถานีรถไฟหัวลำโพง” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคีวิชาชีพ และชุมชน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับทาง กทม. เพื่อหาพื้นที่ขนาดเล็กที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แล้วนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ แทนที่จะปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
“ตัวอย่างเหล่านี้เป็นกระบวนการออกแบบ ซึ่งนำไปสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มากกว่าแค่สวนสาธารณะ เพราะทุกคนได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะทำให้พื้นที่นั้นตอบสนองต่อทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน ดังเช่นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือชุมชนบ้านมั่นคงของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เขาได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เล็กๆ ภายในชุมชน สร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม จุดพักคอย รวมถึงแปลงเพาะปลูก” ภารนี ระบุ
สำหรับพื้นที่ของภาคเอกชนเอง เธอได้ยกตัวอย่างไปถึงพื้นที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ที่ได้มีการคิดและออกแบบเพื่อจัดงานกิจกรรมบางอย่างตามเทศกาล ซึ่งถ้าหากมีการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ก็อาจทำให้เกิดการจัดกิจกรรมที่ยาวนานมากกว่าแค่ช่วงเทศกาล ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเองก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย หรือบริเวณทางเท้าในบางพื้นที่ที่มีขนาดกว้างพอ ก็ยังสามารถจัดพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่สัญจรไปมา ด้วยการทำจุดนั่งพัก จุดบริการข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ
“จากจุดนี้จะเห็นได้ว่า การผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะในอนาคตไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีตัวอย่างจากชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันทำ ตัวอย่างจากภาคราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ดังนั้นภาคีเครือข่ายต่างๆ จึงต้องการผลักดันให้กลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อศึกษาหากลไกที่จะทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะอย่างครอบคลุมทุกเขต” ภารนี ระบุ
พื้นที่สาธารณะในอนาคต สำคัญที่สุดคือ ‘ชุมชน’
การจะสร้างพื้นที่สาธารณะในอนาคต ภารนี ให้ข้อแนะนำว่าอย่างแรกที่ต้องคำนึงถึง คือปัจจัยในด้านทรัพยากร ได้แก่ “ความพร้อมของพื้นที่” หมายความว่าพื้นที่นี้พร้อมที่จะให้ไปสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ไม่ว่าของภาครัฐหรือเอกชน รวมถึง “ความพร้อมขององค์กร หรือชุมชน” ที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วม
เธอมองว่าสองส่วนนี้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการที่จะมาสร้างพื้นที่สาธารณะร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ รวมถึงแก้ไขปัญหาสาธารณะร่วมกัน
นักวิชาการอิสระด้านผังเมืองรายนี้ ยืนยันว่า ใน กทม. มีพื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมจะพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะจำนวนมาก เนื่องด้วยความที่ผู้คนมักมองข้ามพื้นที่ขนาดเล็กที่ไม่ได้ถูกพัฒนา ซึ่งถ้าหากเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะได้ สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่สาธารณะก็จะมีเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือต้องทำให้ “ผู้คนทุกกลุ่ม” เข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น
“ต้องบอกว่าการจะผลักดันสร้างพื้นที่สาธารณะต่อจากนี้ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ กทม.มีต้นทุนในแง่แนวทาง และข้อมูลจากภาคีเครือข่าย หรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาสังคม ซึ่งพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนในสิ่งนี้” ภารนี ระบุ
สิ่งที่เธออยากฝากไปถึงว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คือการทำให้ กทม. เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการสร้างการสนับสนุนกลไกในการทำงานร่วมกัน
นับตั้งแต่ 1. สนับสนุนให้เครือข่ายต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงาน ทีมจัดการข้อมูล และทีมประสานการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิด การวางแผนบริหารจัดการกลไกต่างๆ ทั้งในเรื่องมาตรการทางการเงินการคลัง การวางผังเมืองโดยสำนักผังเมือง ส่วนสำนักสิ่งแวดล้อม มาช่วยดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียว ขณะที่สำนักงานชุมชน ก็สร้างให้ชุมชนมีส่วนร่วม เช่นเดียวกับสำนักอนามัย ที่ส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านสุขภาพ เป็นต้น
2. ส่งเสริมกระบวนการทั้งในระดับภาพรวม และระดับเขตที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว เป้าหมายคือการทำให้เกิด 1 เขต 1 พื้นที่สาธารณะ หรือมากกว่านั้นหากเป็นไปได้
“กทม.จะต้องเป็นเจ้าภาพในการทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เพราะหากต่างคนต่างทำ การพัฒนาจะไม่มีทางมาบรรจบหรือร่วมมือกันได้ ฉะนั้นการทำงานส่วนนี้จึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือหน้าที่ของทุกหน่วยงานในการทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” เธอทิ้งท้าย