เปิดสาระสำคัญ บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ถกนัดแรกของปี 2565 ดัน 3 มติสมัชชาสุขภาพฯ เข้าสู่ ครม.
22 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศ ประเดิมปีขาลด้วยการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน ซึ่งในเวทีได้มีการหารือและพิจารณาหลากหลายเรื่องด้วยกัน

 

หนึ่งในวาระที่สำคัญของ คสช. ในครั้งนี้ คือการให้ความเห็นชอบต่อ "มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14" ทั้ง 3 ระเบียบวาระ ที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการทำงานร่วมกันตลอดทั้งปีของสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งได้มีฉันทมติและแสดงถ้อยแถลงเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันไปแล้วเมื่อช่วงวันที่ 15-16 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้ง 3 ซึ่งประกอบด้วย 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ จากนี้ไปจะเข้าสู่ขั้นตอนของการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ก่อนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ไม่เพียงเฉพาะมติที่เป็นความก้าวหน้าล่าสุดเท่านั้น เพราะอีกวาระที่สำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการมองไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องถึงการจัด "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และ 16" ซึ่งเปรียบได้กับวาระสุขภาพของประเทศประจำปี 2565-2566 ที่ คสช. และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะชักชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน

 

ในส่วนที่ คสช. ได้ร่วมให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ คือกรอบและแนวทางของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 ที่จะจัดขึ้นภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ความหวังและโอกาสอนาคตประเทศไทย”

 

ภายในการประชุมครั้งนี้ คสช. ยังได้รับทราบผลการจัดและมติ "สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564" ซึ่งมีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยที่ประชุมได้ให้ฉันทมติร่วมกันใน 2 มติ ได้แก่ 1. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน 2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ พร้อมมอบหมายให้ สช. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ในอีกด้านหนึ่ง ที่ประชุม คสช. ก็ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3" โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญ คือการนำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ไปเป็นหลักคิดและแนวทางในการขับเคลื่อน ติดตามประเมินผล ทบทวนในหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ

 

ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ ในระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงให้ได้ร่างฉบับสมบูรณ์ จากนั้นในเดือน มี.ค. 2565 ก็จะมีการเสนอต่อ คสช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอต่อ ครม. และรัฐสภา เพื่อที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในปี 2565 ต่อไป