‘บั้นปลายชีวิต’ ที่ต้องพึ่งพิงบุตร ในสังคมสมัยใหม่ที่คน ‘ไม่อยากมีลูก’ ‘คนสูงวัย’ จะอยู่อย่างไรหลังเกษียณ เมื่อไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีคนดูแล
22 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

แม้ว่ามนุษย์ต่างมีธาตุทรหดอยู่ในตัวเอง หากแต่การตกอยู่ในสภาพ ปากกัดตีนถีบ ตั้งแต่วัยเด็ก-หนุ่มสาว เรื่อยไปจนสูงวัย-เกษียณ ก็ดูเป็นชะตากรรมที่โหดร้ายเอาการ

 

คนสูงวัยจำนวนมากในประเทศไทยไม่มีเงินเก็บ หลายรายยังชีพด้วยทักษะเดียวมาโดยตลอด นั่นทำให้เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว จึงไม่สามารถปรับตัวหรือหาสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองในวัยชราได้

 

นี่ไม่ใช่เรื่องของบุคคลหรือระดับปัจเจก นี่ไม่หมายความว่าผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างผิดพลาดหรือด้อยศักยภาพ หากแต่นี่คือผลพวงจาก ปัญหาเชิงโครงสร้าง และสะท้อนถึงสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่อาจโอบอุ้มสวัสดิภาพประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ข้อมูลจาก ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "สวัสดิการเพื่อประชาชน : ระบบบำนาญเพื่อประชาชน" ภายใต้งานรำลึก 13-14 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ระบุว่า แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมีด้วยกัน 4 แหล่ง

 

ประกอบด้วย 1. การเก็บออมและการลงทุนตั้งแต่วัยทำงาน 2. เงินบำนาญ 3. การรับการเกื้อหนุนจากบุตร 4. จากดอกเบี้ยจากการออม

 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสัดส่วนแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน พบว่ารายได้จากดอกเบี้ยจากการออมมีสัดส่วนเพียง 2.3% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้หลักจะมาจากการเกื้อหนุนของบุตร 34.7% ขณะที่รายได้จากทำงาน 30.9 % หรือแม้แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แม้ไม่ได้มาก แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 20% ของรายได้

 

นั่นแสดงว่าผู้สูงอายุยังมีความลำบากอยู่มาก

 

มิหนำซ้ำในเมื่อรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากการเกื้อหนุนของบุตร แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์ และค่านิยมของยุคสมัยที่ครอบครัวมักมีบุตรน้อย-หรือไม่มีเลย ฉะนั้นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ผู้สูงอายุในอนาคตมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวโดยไร้หลักประกัน

 

ศ.ดร.วรเวศม์ บอกว่า เงินบำนาญจะเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต

 

อย่างไรก็ดีระบบบำเหน็จบำนาญของไทยมีหลายระบบ ซึ่งแต่ละระบบเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน จึงมีความแตกต่างกันไปตามอาชีพการงาน แต่หากมองในภาพรวมจะพบว่า ระบบบำนาญของเมืองไทยมีลักษณะเหมือนปิ่นโต บางคนมีปิ่นโตหลายชั้น บางคนมีชั้นเดียว

 

ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นคานงัดในอนาคตคือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ เบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของระบบบำนาญในอนาคต

 

ที่สำคัญคือ ควรมีการคุยกันเพื่อเตรียมการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพคนชราให้กลายเป็นบำนาญจริงๆ และอยากให้มองคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ระบบเป็นศูนย์กลาง ระบบบำนาญที่ควรจะเป็นคือมีความเป็นกลาง เหมาะสมกับคนไทยทุกคน ขณะที่ความต่างด้านอาชีพอาจเป็นส่วน top up ของบำนาญก็ได้

 

สอดคล้องกับ รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า ในอนาคต คนที่มีบุตรหลายคนจะน้อยลง บางคนไม่มีบุตร ดังนั้นแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการเลี้ยงดูของบุตรจะน้อยลงเรื่อยๆ และต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพมากขึ้น หรือต้องไปทำงาน หรือพึ่งพาเงินออมมากขึ้น

 

คำถามคือ แล้วควรออกแบบระบบบำนาญที่จะทำให้คนไม่ต้องเจอความเสี่ยงในอนาคตอย่างไร !!?

 

เวลาพูดในประเด็นนี้ เรามักจะมองไปที่ตัวเงินว่าจำนวนเท่าใด แต่ลืมมองไปที่รายได้ที่จะมาสนับสนุนด้วย ดังนั้นการมองเหรียญทั้ง 2 ด้าน จะทำให้ได้คำตอบและขยับได้ว่าระบบควรเดินไปแบบไหน รศ.ดร.วรวรรณ ระบุ

 

เธอยกตัวอย่าง เช่น ตั้งตัวเลขบำนาญพื้นฐานไว้ที่ 4,500 บาท/เดือน แหล่งที่มาของเงินอาจสามารถทำได้โดยจัดสรรมาจากภาษีส่วนหนึ่งและประชาชนออมเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง หรืออาจใช้เงินมาจากภาษีหลายๆ แบบ เช่น เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 1-2% เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินบำนาญ หรือจะให้ประชาชนออมเพิ่มมากขึ้นและใช้เงินจากภาษีในสัดส่วนที่น้อยลง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การจะมีข้อสรุปในเรื่องนี้ทั้งจำนวนเงินบำนาญที่ทำให้คนไม่ต้องเจอความเสี่ยงในอนาคตควรเป็นเท่าใดและแหล่งที่มาของเงินจะมาจากไหน เป็นเรื่องที่ต้องหารือและใช้เวลานาน

 

ดังนั้นในระหว่างนี้ สิ่งที่สามารถทำได้คือควรจะขยายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เข้าสู่ระบบบำนาญไปก่อนเพื่อความถูกต้องในเชิงกฎหมาย ส่วนจำนวนที่จ่ายอาจจะเท่าเดิมไปก่อน รวมทั้งอาจคัดคนที่มีสินทรัพย์หรือสภาพคล่องที่สูงออกไปจากรายชื่อผู้รับเงินยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งแม้จะไม่ได้ลดภาระงบประมาณมากมาย แต่เป็นการแสดงออกในทางหลักการว่าจะช่วยเหลือคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน

 

ด้าน ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง อธิบายว่า เมื่อกล่าวถึงระบบบำนาญ สิ่งที่มองจะมี 3 ส่วนใหญ่ๆ

 

1. ความครอบคลุม ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน 42-43 ล้านคน มี 59% มีระบบการออมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่วนอีก 41% ไม่มีอะไรเลย แต่หากดูสัดส่วนแรงงานจะพบว่ามีแรงงานในระบบ 12 ล้านคน ที่มีการออมเผื่อเกษียณอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ 30 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบหรือไม่อยู่ในตลาดแรงงาน ในจำนวนนี้มีการออมเพื่อเกษียณประมาณ 12 ล้านคน และอีก 17 ล้านคนไม่มีการออมเพื่อเกษียณ ซึ่งเรื่องล่าสุดที่ถือว่าผลักดันสำเร็จ คือการมี กอช. เกิดขึ้นเพื่อมาดูแลกลุ่มแรงงานที่อยู่นอกระบบโดยขณะนี้มีสมาชิก กอช.อยู่ประมาณ 2 ล้านคน

 

2. ความเพียงพอ โดยหลักสากล รายได้หลังเกษียณควรเป็น 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงการคลังพยายามปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญให้ตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยขณะนี้มีการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....  (กบช.) ซึ่งจะเป็นการออมภาคบังคับและร่วมมือกันออมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เบื้องต้นมีลูกจ้างประมาณ 8 ล้านคนที่เข้าข่าย ทำให้นอกจากเงินบำนาญประกันสังคมแล้วก็จะมีเงินจาก กบช.มาเสริมรายได้ยามเกษียณด้วย

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบบำเหน็จบำนาญของไทยมีความหลายหลายและอยู่ในการกำกับของหลายๆหน่วยงาน ทำให้การบริหารจัดการขาดเอกภาพ สิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามทำอีกอย่างคือ เสนอร่างกฎหมายอีกฉบับคู่ไปกับ กบช. คือ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... (คนบ.) ซึ่งมีสาระสำคัญคือรวมกองทุนต่างๆอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญของไทยมากขึ้น

 

3. ความยั่งยืน ในอนาคต คนบ. จะดูภาพรวมว่าเรื่องความเสี่ยงว่ากองทุนไหนที่เสี่ยงต่อความไม่ยั่งยืนและดูแลเพื่อป้องกันปัญหาภาระการคลังในอนาคต

 

นี่คือสิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ แต่การทำงานค่อนข้างยากเพราะเป็นประเด็นการเมืองค่อนข้างสูง ดร.วโรทัย กล่าว