ผลลัพธ์ ‘จัดการขยะ’ ตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน-สังคม ช่วย กทม.ประหยัดงบกว่า 44 ล้านบ. ผันไปใช้พัฒนาการศึกษา-สาธารณสุข12 มิถุนายน 2566
นโยบายการส่งเสริมจัดการขยะที่ต้นทางของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นอีกหนึ่งในนโยบายในการบริหารจัดการเมืองของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ต้องการให้เกิดการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนและคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนผุดออกมาเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนสังคมเห็นความสำคัญของการจัดการขยะร่วมกัน ทั้งโครงการ “ไม่เทรวม” หรือโครงการ “BKK Zero Waste” ที่ กทม. มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชน องค์กร สถานประกอบการ ลดและคัดแยกขยะ มุ่งผลสำเร็จตามหลักการของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) ซึ่งสำนักงานเขตแต่ละแห่งได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาใช้ประโยชน์
ผลลัพธ์จากการดำเนินการครบ 1 ปี หรือตั้งแต่ปี 2565 มาถึงปัจจุบัน พบว่าแนวทางการการจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ก่อนนำไปสู่การเก็บขยะของ กทม. “ได้ผลจริง” และทำให้ “ลดปริมาณขยะ” ลงได้
ล่าสุดจากการแถลงของ กทม. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 โดยเทียบปริมาณขยะระหว่างเดือน ก.พ. - เม.ย. ของปี 2565 และปี 2566 จากศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่งของ กทม. พบว่า เดือน ก.พ. 2566 ปริมาณขยะลดลง 200 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 2.25% ของปี 2565 ซึ่งสามารถประหยัดค่าจัดการขยะไปได้ 10.6 ล้านบาท
ขณะที่เดือน มี.ค. 2566 ปริมาณขยะลดลง 272 ตัน/วัน คิดเป็น 3% ของปี 2565 สามารถประหยัดค่าจัดการขยะไปได้ 16 ล้านบาท ส่วนเดือน เม.ย. 2566 ปริมาณขยะลดลง 318 ตัน/วัน หรือ 3.6% ของปี 2565 และสามารถประยัดค่าจัดการขยะไปได้ 18.13 ล้านบาท
ผลของปริมาณขยะที่ลดลง ทำให้โดยรวม กทม. สามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้แล้วถึง 44.73 ล้านบาท !!!
ภาพรูปธรรมของความสำเร็จ เกิดจากที่ กทม. รุกเข้าไปยังแหล่งกำเนิดขยะตั้งแต่ต้นทาง และแสวงหาความร่วมมือเพื่อร่วมกันจัดการขยะ และสร้างการรับรู้ในสังคมให้มากขึ้น โดยเริ่มจากปี 2565 ที่ กทม. ชักชวนภาคีเครือข่ายทั้ง ชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ให้เข้าร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
จุดต้นทางนั้นมุ่งใน 6 ประเภทที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะ ประกอบด้วย ชุมชน, สถานศึกษา, อาคาร, ตลาด, วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรมหรือเทศกาล ในพื้นที่ทั้ง 50 เขต จำนวน 998 แห่ง ซึ่งเริ่มจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำหรับในปี 2566 พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ระบุว่า จะขยายขอบเขตความร่วมมือมากขึ้นไปอีก ในการเชิญชวนทุกภาคีเครือข่ายในสังคมเพิ่มเติมอีก 16 ประเภท ที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะ
ทั้งนี้ ประกอบด้วย ชุมชน, โรงเรียน, วัดและศาสนสถาน, ตลาด, ห้างสรรพสินค้า, สถานบริการน้ำมัน, โรงแรม, ธนาคาร, สถานพยาบาล, สวนสาธารณะ, หน่วยงานสังกัด กทม., ซุปเปอร์มาเก็ต/มินิมาร์ท, ร้านอาหาร, สำนักงานโรงงาน, แฟลตหรือคอนโดมิเนียม และงานกิจกรรมหรือเทศกาล
“เราวางเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมโครง 8,390 แห่ง ซึ่งขณะนี้มาร่วมแล้วกว่า 4,500 แห่ง ซึ่งเราคาดว่าจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะทำให้ปริมาณขยะในกรุงเทพฯ ลดลงได้อีก เพราะปัจจุบันคาดว่าขยะจะเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดเมือง และการท่องเที่ยว” ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. กล่าว
พร้อมกันนี้ กทม. ยังเตรียมจะผุดนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” ผ่าน 2 โครงการจัดการขยะ คือ 1. ขยะเศษอาหาร และกิ่งไม้ใบไม้ ดำเนินการตามโครงการ “ไม่เทรวม” และ 2. ขยะรีไซเคิล ดำเนินการผ่านโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” ตามภารกิจ “แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด”
โครงงการดังกล่าว สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสังคมลดขยะ, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, กลุ่ม PPP Plastics, สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE), กลุ่ม Youเทิร์น จาก ปตท. และกลุ่ม Z-Safe เพื่อช่วยเหลือพนักงานกวาดถนน ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของงบประมาณการจัดการขยะที่ปรับลดลงไปได้นั้น กทม. ระบุว่าจะนำงบส่วนนี้ไปอุดหนุนพัฒนาในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ด้านการศึกษา และด้านการสาธารณสุขต่อไป
สำหรับการจัดการขยะของ กทม. นับว่าสอดรับกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2560 ที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพร่วมกันมีมติ “การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” โดยเห็นพ้องกันว่า ขยะสามารถควบคุมและบริหารจัดการได้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนและชุมชน โดยมีหน่วยงานของรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาเข้าร่วมส่งเสริม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีเครือข่าย จะช่วยลดปัญหาขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม