
แก้โจทย์ท้าทายภายใต้ ‘ระบบสุขภาพ’ ต้องการส่วนร่วมจาก ‘ภาคประชาชน’ มุมมองเห็นพ้องจากหน่วยงาน 5 ส. หนุน คนส. สานพลังสร้างสังคมสุขภาวะ14 มิถุนายน 2566
การเสวนาและแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง “ระบบสุขภาพไทย ในบทบาทของหน่วยงานสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญของหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่ (คนส.) รุ่นที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย. 2566 บนวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างและพัฒนาศักยภาพคนทำงานกลุ่มใหม่ เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนงานในการสร้างสุขภาวะให้กับพื้นที่
เนื่องด้วยเนื้อหาของเวทีนี้ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรต่างได้ร่วมกันทำความเข้าใจ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับ “หน่วยงาน 5 ส.” ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพและสุขภาวะ อันประกอบไปด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ประเด็นจากบทเรียนและข้อคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากเวทีนี้ ก็เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจถึงภาพรวมการจัดระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม จากหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ร่วมกับมุมมองการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่จะสามารถเข้ามาร่วมจัดการกับระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ได้
จากใจ ‘ผู้ให้บริการ’ เน้นย้ำ ‘ผู้รับบริการ’ ต้องมีส่วนร่วม
นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 เปิดประเด็นบนเวทีแลกเปลี่ยน โดยระบุถึงการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เพราะในทุกมิติของสังคมล้วนมีผลเชื่อมโยงมายังเรื่องสุขภาพของประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าจากบริบทความเป็นเมือง ปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมกันนั้นก็ยังเผชิญกับความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่เมื่อประชาชนอายุเพิ่มขึ้นก็จะเจ็บป่วยมากขึ้น เป็นต้น
ตัวแทนจาก สธ. ขยายความว่า การเข้ารับบริการสุขภาพที่มากขึ้น ย่อมส่งผลให้การทำงานของแพทย์ต้องมากขึ้นตาม ซึ่งในประเด็นด้านกำลังพล หรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น สธ. เองก็มีแผนที่จะจัดการในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการในวันข้างหน้า คือ “การปฏิรูปเขตสุขภาพ” ที่จะต้องมีการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ ได้ร่วมกันใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดฃ
“สิ่งที่ต้องมาร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนต่อไป คือการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และการส่งเสริมป้องกันสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนและท้องถิ่น ต่างสนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพ เพราะเข้าใจดีแล้วว่าสุขภาพไม่ใช่เรื่องของการรักษาหรือการให้ยา แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือส่งเสริมสุขภาพให้ดีก่อนเป็นโรคได้” นพ.สุเทพ ระบุ
ต่อด้วยมุมมองจาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้ภาพว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั่นคือการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นการที่บอกว่าระบบบัตรทองทำให้คนเข้ารับบริการมากขึ้นเมื่อมีความจำเป็น สปสช. จึงคิดว่าถูกต้องแล้ว และเป็นการสะท้อนถึงระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายสำหรับอนาคต คือการสร้างองค์ความรู้กับประชาชนให้สามารถคัดกรองสุขภาพตัวเองได้เบื้องต้น สำหรับอาการเจ็บป่วยต่างๆ และสามารถดูแลตัวเองได้ สำหรับบางโรค บางอาการ ที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ผนวกทั้งการเพิ่มเครื่องมือการตรวจคัดกรองเบื้องต้นอย่างง่าย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพด้วยตัวเอง
“ความท้าทายคือการทำให้ประชาชนทุกคนมีองค์ความรู้เรื่องนี้ ซึ่งต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับตำบล ที่จะช่วยกันทำให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ด้านสุขภาพของตัวเอง การตรวจคัดกรอง การป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน ซึ่งจะเป็นการทำให้ระบบสุขภาพมีความแข็งแรงและยั่งยืน” นพ.จเด็จ กล่าว
เลขาธิการ สปสช. ยังเสริมด้วยว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้เริ่มใช้กระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกับภาคประชาชน ซึ่งทำให้เกิดการร่วมกันออกแบบการบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประชาชน
“ระบบสุขภาพจะเข้มแข็งและยั่งยืนได้ ระดับบนอาจต้องปรับความคิดใหม่ และเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถมีองค์ความรู้ และดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้นได้ แต่ก็ต้องเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ” นพ.จเด็จ ให้แนวทาง
องค์ความรู้-นวัตกรรม การสานพลังสู่สังคมสุขภาวะดี
ในส่วนของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. อธิบายถึงบทบาทการเชื่อมโยงการทำงานของ สสส. สู่ภาคีเครือข่าย โดยระบุว่า สสส. จะเข้าไปลงทุนกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดความสำเร็จได้
ทั้งนี้ เขาเปรียบ สสส. เสมือนเป็นต่อมใต้สมอง ที่เข้าไปสานพลัง สร้างนวัตกรรม และเข้าไปสื่อสารเพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ได้เกิดการขับเคลื่อน เพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ออกดอกผลเป็นสุขภาพที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน
อย่างไรก็ตาม การสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับชุมชนนี้ ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้องค์ความรู้เข้ามาจัดการสุขภาพอย่างครอบคลุม
“ความรู้ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอายุยืน แต่ก็ต้องใช้กำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมเปลี่ยนแปลง และสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ซึ่ง สสส.จะให้การสนับสนุน และเดินหน้าให้มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการร่วมกันขับเคลื่อนด้านสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง” ตัวแทนจาก สสส. ให้ภาพรวม
ในขณะที่มุมมองของภาคการวิจัย ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ความรู้ด้านสุขภาพ และการดูแลจัดการสุขภาพเบื้องต้น จะไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่ผู้รับบริการ หรือประชาชน ก็สามารถที่จะมีองค์ความรู้ หรือเข้าถึงเครื่องมือ นวัตกรรม ที่ช่วยให้ดูแลสุขภาพของตัวเอง หรือส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับตัวเองได้ด้วย
ดังนั้นในส่วนของงานวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศ ทาง สวรส. จึงให้ความสำคัญและสนับสนุนให้นักวิจัย ดำเนินการวิจัยหรือเครื่องมือที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว
ทพ.จเร ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพ มองว่าทุกเครือข่ายที่เข้ามาร่วมกัน ต่างมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้คนสุขภาพดีขึ้น หากแต่ปัจจัยสำคัญคือการขับเคลื่อนร่วมกันของภาคีเครือข่ายที่จะต้องมีระบบ และสามารถวิเคราะห์ได้ถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของเครือข่าย พร้อมแสวงหาจุดแข็งเพื่อเติมเต็มกัน
“มีคนบอกว่างานวิจัยต้องทำโดยนักวิจัย แต่จริงๆ แล้วการทำวิจัยไม่ได้ผูกขาดอยู่ในมือของนักวิจัยเพียงอย่างเดียว เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้การวิจัยได้ด้วยตัวเอง ในการใช้เครื่องมือไปแสวงหาความรู้ที่เป็นกลาง เพื่อผลักดันเครือข่ายของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ หรือบรรลุเป้าหมายร่วมกัน” ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ให้แง่คิด
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แลกเปลี่ยนด้วยว่า หากตีความหมายของคำว่าสุขภาพ จะพบว่ามีความหมายที่ครอบคลุมไปถึงทุกมิติในสังคม โดยไม่จำกัดเพียงแค่คำว่ารักษา หรือการให้ยาเพื่อรักษาอีกต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเรื่องของสุขภาพ ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ดังนั้นย่อมหมายความว่าทุกภาคส่วน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ
ตัวแทนจาก สช. ระบุว่า การสานพลังของทุกภาคส่วน และนำจุดแข็งแต่ละจุดมาขับเคลื่อนร่วมกัน จะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้เกิดการจัดการสุขภาพในระดับพื้นที่อย่างตรงประเด็น และตรงกับเป้าหมายความต้องการ เพราะการร่วมกันทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายต่างๆ ในชุมชน หรือในสังคมนั้น จะสามารถสะท้อนปัญหาและช่วยกันเสนอทางออก รวมถึงเป็นการออกแบบการป้องกันสุขภาพที่ตรงกับบริบทของพื้นที่ ได้อย่างแท้จริง