ปทุมธานี สานพลังเครือข่าย 'บวร' ร่วมพร้อมใจหยุดภัย 'ไข้เลือดออก' มุ่งกำจัดยุงลายบริเวณ วัด-ร.ร.-ชุมชน ใช้พื้นที่เป็นฐาน สอดคล้องมติสมัชชาฯ15 มิถุนายน 2566
ตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่า เมื่อเทียบกันกับปี 2565 โดยจำนวนผู้ป่วยล่าสุดอยู่ที่ 19,503 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 17 คน
ในรายละเอียดยังพบด้วยว่า อายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด คือ จ.ตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และ สตูล ขณะที่ภาพรวมของการระบาดได้กระจายไปทั่วแล้วถึง 71 จังหวัด ครอบคลุม 348 อำเภอ
แนวทางการจัดการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือกลไกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาไข้เลือดออกระบาด โดยเฉพาะกับช่วงหน้าฝน อย่างเช่นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามานำร่องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการกับปัญหานี้
สำหรับภาคีเครือข่ายทั้ง กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เข้าไปสานพลังกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี และภาควิชาการอย่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์แก้ปัญหา “บ้าน วัด โรงเรียน พร้อมใจ หยุดภัยไข้เลือดออก”
กระบวนการที่ว่าได้อาศัยพลังของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยใช้แอปพลิเคชัน อสม. สำรวจพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดไข้เลือดออก ซึ่งพบว่า วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการ คือแหล่งที่ประชาชนเข้าออกต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จึงเกิดการสร้างความเข้าใจของชุมชนในการร่วมกันป้องกัน โดยเฉพาะวัด ที่พระสงฆ์ไม่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เอง จึงรณรงค์กับประชาชนที่เข้าวัดอย่าสร้างขยะ เช่น แก้วพลาสติก กล่องโฟมใส่อาหาร ที่อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ รวมทั้งควรมีจิตอาสาที่จะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในวัดไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง ที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ขณะที่ในพื้นที่โรงเรียน ก็มีมาตรการเข้มข้นในการฝึกทักษะนักเรียนให้สามารถจัดการกับปัญหายุงลายได้ เช่น จัดเวรดูแลอ่างบัว แจกันพลูด่าง ปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อกินลูกน้ำ เป็นต้น และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ยุงกัดนักเรียน
ผลจากการสานพลังดังกล่าว ทำให้ จ.ปทุมธานี เป็นอีกพื้นที่ที่ใช้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันจัดการปัญหาของชุมชน บนแกนหลักคือการใช้พลังของ อสม. ในพื้นที่ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุข
การจัดการปัญหาไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จะเป็นการนำร่องเพื่อให้พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้เห็นเป็นแนวทางการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไข้เลือดออก ซึ่งยังสอดรับกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เรื่อง “สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน” ที่เห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศมาถึงระดับชุมชน และบุคคล รวมไปถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ธรรมนูญสุขภาพ กองทุนสุขภาพในพื้นที่ และกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ให้เป็นเครื่องมือในการสานพลังเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้
ในส่วนของการดูแลตัวเองเบื้องต้นสำหรับโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค ระบุว่า หากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้