WHO แถลงถึงสถานการณ์ 'ยูเครน' ย้ำ 'สุขภาพ' ยังต้องได้รับคุ้มครอง ชี้วิกฤตขณะนี้ขาดแคลน 'ออกซิเจน' จ่อหาช่องลำเลียงเวชภัณฑ์ปลอดภัย
28 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมด้วย ฮานส์ เฮนรี ครูเกอ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคยุโรป ร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2565 ถึงวิกฤตการขาดแคลนออกซิเจนทางการแพทย์ในยูเครน พร้อมเรียกร้องให้มีการส่งเวชภัณฑ์เพื่อเข้าถึงผู้คนที่กำลังต้องการได้อย่างปลอดภัย โดยระบุว่า WHO กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างการจัดส่งที่ปลอดภัยผ่านโปแลนด์

การแถลงของทั้งสองได้ระบุว่า ช่วงวิกฤตของยูเครนในขณะนี้ เรื่องของสุขภาพยังคงจะต้องเป็นเสาหลักที่ได้รับการตอบสนองในด้านมนุษยธรรม โดยที่ระบบสุขภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังคงได้รับการคุ้มครองให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เข้าถึงได้สำหรับทุกคนที่ต้องการบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะได้รับการคุ้มครองเพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ต่อไป

ขณะเดียวกันยังรวมถึงการจัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นได้อย่างปลอดภัย โดยหนึ่งในนั้นคืออุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่าง "ออกซิเจนทางการแพทย์" อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆ รวมถึงผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในโรงพยาบาลของยูเครนจำนวน 1,700 ราย ตลอดจนผู้ที่มีโรคร้ายแรงอื่นๆ ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของปริมาณออกซิเจนในยูเครนขณะนี้ใกล้ถึงจุดที่อันตรายมาก เนื่องจากรถบรรทุกไม่สามารถขนส่งอุปกรณ์ออกซิเจนจากโรงงาน ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงอย่าง กรุงเคียฟ ที่ขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีปริมาณออกซิเจนสำรองเหลือให้ใช้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงข้างหน้า และโรงพยาบาลบางแห่งก็ได้ใช้หมดไปแล้ว นั่นจึงทำให้หลายพันชีวิตขณะนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

"นอกจากนี้ผู้ผลิตเครื่องออกซิเจนทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ ยังต้องประสบปัญหาการขาดแคลน ซีโอไลต์ ซึ่งเป็นสารเคมีนำเข้าที่สำคัญในการผลิตออกซิเจนทางการแพทย์ที่ปลอดภัย จึงจำเป็นที่จะต้องให้มีการขนส่งซีโอไลต์ได้อย่างปลอดภัยจากภายนอกประเทศยูเครน เข้าไปยังโรงงานเหล่านี้ด้วย" แถลงของทั้งสอง ระบุ

พร้อมกันนี้พวกเขายังได้แถลงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วย ทั้งในแง่บริการในโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับ รวมถึงรถพยาบาลที่รับส่งผู้ป่วย ซึ่งก็ตกอยู่ในอันตรายจากการถูกลูกหลงด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้บริหาร WHO ยังระบุอีกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการสนับสนุนของ WHO ทำให้ยูเครนมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาระบบสุขภาพของตน ภายใต้โครงการปฏิรูปสุขภาพที่ทะเยอทะยาน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดด้วยออกซิเจนอย่างรวดเร็วแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นรุนแรง ในช่วงการระบาดใหญ่ โดยในจำนวนสถานบริการสุขภาพกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เกือบครึ่งหนึ่งได้รับการสนับสนุนทางเวชภัณฑ์ ความรู้ทางเทคนิค และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายหมื่นคน

"ทว่าความก้าวหน้าเหล่านี้กำลังมีความเสี่ยงที่จะตกรางในช่วงวิกฤตในปัจจุบัน" แถลงของ WHO ระบุ

พวกเขายังระบุด้วยว่า ขณะนี้ WHO กำลังช่วยหน่วยงานด้านสุขภาพของยูเครน สำรวจความต้องการออกซิเจนภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20-25% จากความต้องการเดิม ก่อนที่วิกฤตจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และแม้สถานการณ์ปัจจุบันจะมีความท้าทาย แต่ WHO ก็จะทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับออกซิเจน และอุปกรณ์การรักษาผู้บาดเจ็บ จะดำเนินการต่อไปได้

"เพื่อให้บรรลุสิ่งนี้ WHO จึงกำลังมองหาวิธีเพิ่มอุปทาน ที่อาจรวมถึงการนำเข้าออกซิเจนจากเครือข่ายในระดับภูมิภาค ซึ่งพัสดุเหล่านี้จะต้องมีการขนส่งที่ปลอดภัย โดยผ่านเส้นทางลอจิสติกส์ทางโปแลนด์ เพราะจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าเวชภัณฑ์ช่วยชีวิต รวมถึงออกซิเจนเหล่านี้ จะไปถึงมือผู้ที่ต้องการ" แถลงของทั้งสอง ระบุ