‘โลก’ เรียนรู้และกำลังปรับตัว นานาประเทศ ‘ลดการ์ด’ ลงต่ำ ‘โควิด’ เดินหน้าสู่ ‘โรคประจำถิ่น’ ไม่น่ากลัว แต่ก็ไม่ได้ ‘ปลอดภัย’
1 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

โควิด 19 ได้ระบาดมานานกว่า 2 ปีแล้ว ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจมากมายแก่ผู้คนทั่วทุกมุมโลก และก็ดูเหมือนว่าปัญหาการระบาดจะยังไม่หมดไปโดยง่าย ยอดการติดเชื้อและการพัฒนาตัวเองของไวรัสยังคงดำเนินต่อไป

ด้วยเหตุนั้นทำให้ในปัจจุบัน บรรดารัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจึงกำลังพยายามปรับมุมมองเกี่ยวกับโควิด 19 ใหม่ เพราะการใช้มาตรการที่เข้มงวด-ระดมฉีดวัคซีน เพียงเพื่อหวังให้โรคหมดไปคงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องหันมามองถึงการเปลี่ยนให้วิถีชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้แทน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเปลี่ยนไปของนโยบายของโควิด 19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย มีการลดมาตรการควบคุม มีการเปิดพรมแดน รวมไปถึงมีการวางเป้าหมาย ให้โควิด 19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” (Endemic)

อย่างไรก็ดี การผ่อนลงของการควบคุม และความพยายามให้เป็นโรคประจำถิ่น อาจจะส่งผลอะไร และจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือแย่ลง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องประเมินกันต่อไป

 

โควิด 19 ในฐานะโรคประจำถิ่น

ในความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่นนั้น โดยรวมแล้วหมายถึง โรค เชื้อโรค หรืออาการผิดปกติบางประการที่เกิดขึ้นอย่างปกติ / คงที่ (Constant) ตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มประชากรต่างๆ ซึ่งภาพรวมของโรคนั้นจะเป็นโรคที่พยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน พื้นที่ใด ช่วงเวลาใด และจะมีจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ที่ได้รับผล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ต่างกันไปทั่วโลกก็นับว่าเป็นโรคประจำถิ่นชนิดหนึ่ง โดยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza) ก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าจะระบาดเมื่อไหร่ มีความเสี่ยงต่อพื้นที่และประชากรกลุ่มใด จำนวนเท่าไหร่ จบลงเมื่อใด การควบคุมป้องกันทำได้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของไทย ก็จะเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด พื้นที่เสี่ยงคือพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น แต่ควบคุมได้ด้วยการฉีดวัคซีน และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนก็จะหมดไป เป็นต้น

อีกตัวอย่างที่สามารถเสริมภาพของโรคประจำถิ่นให้ชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น ก็คือโรค “ไข้เลือดออก” ที่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะระบาดในฤดูฝน และบางครั้งก็ฤดูร้อน ในพื้นที่เขตร้อนชื้นต่าง ๆ

จากเรื่องของโรคประจำถิ่นข้างต้น จึงเป็นที่มาของความพยายามในการเปลี่ยนโรคระบาดที่ระบาดใหญ่ (Pandemic) อย่างโควิด 19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในที่นี้คือการทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาใช้ชีวิตปกติโดยที่ไม่ต้องวิตกกังวลถึงมันอย่างที่เป็นกันอยู่อีกต่อไป ให้มันกลายเป็นโรคธรรมดาที่คาดการณ์ได้ถึงรูปแบบและช่วงเวลาการระบาด ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน และใช้ชีวิตอย่างปกติ เหมือนที่ทุกวันนี้ใช้ชีวิตร่วมกับไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าการจะเปลี่ยนให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ในชั่วข้ามคืน ความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่จำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต้องมีสัดส่วนมากเพียงพอ ความพร้อมในการรับมือการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่อนมาตรการก็ต้องมีอย่างเพียงพอ รวมถึงความพร้อมด้านอื่น ๆ อีกมากที่ยังต้องตระหนักถึง

 

โลกกับการปรับตัว

ในเวลานี้ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มทำการผ่อนคลายมาตรการและก้าวข้ามไปสู่ความพยายามในการอยู่ร่วมกับโควิด-19ให้เหมือนเป็นปกติธรรมดาแล้ว เพราะนอกจากจะยังไม่พบว่าปลายทางของการระบาดของโรคนี้จะเป็นอย่างไร มาตรการที่เข้มงวดยังก่อผลเสียให้กับเศรษฐกิจ และผู้คนก็ไม่สามารถแบกรับปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อีกต่อไปแล้ว

การส่งผู้คนกลับไปใช้ชีวิตปกติดั่งเดิมจึงเกิดขึ้น และพยายามให้กลับไปเหมือนเดิมมากที่สุด แม้ว่าในความเป็นจริง โควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายต่อหลายสิ่งไปตลอดกาลแล้วก็ตาม

สหราชอาณาจักร นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวต่อการปรับลดมาตรการและพยายามให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างปกติมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยรัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่เอกสาร “COVID-19 Response: Living with COVID-19” ออกมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 (ฉบับล่าสุด)

ในเอกสารฉบับนี้ระบุว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะทำทุกวิถีทางให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติไปพร้อม ๆ กับการควบคุมโรคระบาด และจะเปลี่ยนผ่านสหราชาอาณาจักรให้เป็นประเทศที่บริหารจัดการโควิด-19ได้อย่างกับโรคระบาดทั่วไปอื่นๆ

นี่เป็นความพยายามและนโยบายอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกที่แสดงเจตจำนงค์ถึงการจะอยู่ร่วมกับโควิด 19

เนื่องด้วยในปัจจุบัน ประชากรของสหราชอาณาจักรเกินกว่า 60ได้ทำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นจึงทำให้ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สูงอยู่ก็ตาม แต่อัตราความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงได้ลดลงแล้ว รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงจะพยายามให้ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และมุ่งสู่การทำให้โควิด-19เป็นโรคประถิ่น

อย่างไรก็ดี การระบาดและการกลายพันธุ์ที่อาจตามมาในอนาคต รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุในเอกสารชิ้นนี้ว่า มั่นใจที่จะควมคุมได้ดีกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ COVID-19 Response: Living with COVID-19 ยังระบุอีกด้วยว่า เพื่อทำให้ทุกอย่างเหมือนอย่างปกติที่สุดในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะทำการยกเลิกมาตรการควบคุมทั้งหมด และจะใช้วิธีส่งเสริมสุขภาวะและปฏิบัติต่อโควิด 19 เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไปแทน

ด้านประเทศอื่นๆ แม้จะยังไม่มีแผนหรือนโยบายอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร แต่ก็ได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว เช่นการเปิดพรมแดนให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวของออสเตรเลีย หรือในสวิสเซอแลนด์ มีการยกเลิกมาตรการสวมหน้ากาก แสดงผลหรือใบรับรองวัคซีน และการขออนุญาตในการทำกิจกรรมทั้งหมดแล้ว แม้ว่าวันที่ 9 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อจะสูงถึง 21,032 รายก็ตาม

วันที่ 9 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน รัฐบาลสวีเดนได้ประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด 19 ทั้งหมด รวมถึงยกเลิกการให้บริการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR อีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่า กว่า 80ของประชากรสวีเดนนั้นได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอแล้ว

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.ได้มีการพูดถึงในการลดระดับโควิด 19 ให้เหลือเพียงโรคประจำถิ่นหลายต่อหลังครั้ง ในเดือนธันวาคม 2564 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถ้าจะให้โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ต้องคำนึงถึงว่า คนและเชื้อไวรัสต้องอยู่ร่วมกันได้ เชื้อต้องลดความรุนแรงลง ติดแล้วมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่ำ เช่นการกลายพันธุ์ของโอมิครอนเป็นต้น

นอกจากนี้ผู้คนต้องมีภูมิคุ้มกันเพียงพออีกด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากวัคซีนหรือใดๆ ก็ตาม ทั้งหมดนี้จะทำให้โควิด 19 มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่นได้

           

สู่อนาคตกับโควิด 19

แม้ว่าเป้าหมายของการทำให้โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นคือการที่จะให้คนกับโรคอยู่ด้วยกันได้อย่างปลอดภัยที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความอันตรายของโควิด 19 จะหายไป

เมื่อมองย้อนไปดูโรคระบาดอื่นๆ ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่าง “มาลาเรีย หรือ “วัณโรค” จะพบว่าในขณะที่โลกกำลังหวาดผวาต่อโควิด 19 ในปี 2020 มาลาเรีย คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 600,000 ราย ส่วนวัณโรคก็เป็นสาเหตุการตายของผู้คนกว่า 1,500,000 ราย ทั่วโลก ซึ่งนี่เป็นตัวเลขของโรคระบาดที่มนุษย์อยู่ร่วมกันมากับมันและรู้จักมันดีกว่าหลายทศวรรษแล้ว

นั่นจึงหมายความว่าการแปรเปลี่ยนโควิด 19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นมีเรื่องให้ต้องพึงระวังไม่น้อย และยังคงต้องการมาตรการหรือการเตรียมความพร้อมรับมือในอย่างแข็งขันเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด ต้องพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์และไม่ให้โควิด 19 เหนือล้ำเกินการตามทันของมนุษย์ เพราะในขณะนี้ โควิด 19 ก็ “วิวัฒนการ” ไปพร้อมๆ กับการหาทางรับมือของมนุษย์เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การที่จะอยู่ร่วมกับโควิด 19 การแพทย์ต้องพร้อม ประชาชนต้องตื่นรู้ ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าโควิด 19 จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเราได้น้อยที่สุด

อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/d41586-022-00155-x
https://www.aljazeera.com/news/2022/1/29/pandemic-or-endemic-where-is-covid-heading-next
https://theconversation.com/covid-will-soon-be-endemic-this-doesnt-mean-its-harmless-or-we-give-up-just-that-its-part-of-life-175622
https://www.science.org/content/article/it-time-live-covid-19-some-scientists-warn-endemic-delusion
https://www.swissinfo.ch/eng/switzerland-lifts-most-covid-19-restrictions/47352480
https://sweden.se/life/society/sweden-and-corona-in-brief
https://thestandard.co/key-messages-endemic-disease/
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2314472
https://www.bangkokbiznews.com/health/984574
https://www.gov.uk/government/publications/covid-19-response-living-with-covid-19/covid-19-response-living-with-covid-19
https://www.france24.com/en/asia-pacific/20220221-australia-fully-re-opens-borders-after-two-year-covid-19-closure
https://www.newscientist.com/article/2237475-covid-19-news-rush-for-covid-tests-before-england-starts-charging/