'ไตรสิกขา' สู่ 'สุขภาพทางปัญญา' ใช้ 'ธรรมะ' เพื่อดูแล-เยียวยาจิตใจ หนึ่งในกิจของสงฆ์ภายใต้ธรรมนูญฯ หนุนสู่บทบาท ผู้นำสุขภาวะชุมชน
23 มิถุนายน 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ด้วยสถานการณ์ความท้าทายปัจจุบันของประเทศไทยที่สร้างผลกระทบและความห่วงกังวลให้กับผู้คนในสังคม ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างความผันผวนด้านเศรษฐกิจ ภาวะสงคราม โรคระบาด และปัจจัยภายในประเทศเองอย่างผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาปากท้องที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย ส่งผลให้สังคมเกิดความสับสน ผู้คนเกิดความเครียดสะสมจนกระทบสุขภาพในที่สุด


ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนที่ได้รับผลกระทบต่างมีวิธีการรับมือและแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ที่มี แต่เชื่อว่าการพึ่งธรรมะในการดูแลและเยียวยาจิตใจ เป็นหนึ่งในตัวเลือกของหลายคน ในฐานะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งจำนวนวัด สำนักสงฆ์ และสำนักปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายวัดยังมีการปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยเพื่อให้เข้าถึงการรักษาอย่างเพียงพอ  ประกอบกับปัจจุบันพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่การเป็นผู้นำทางจิตใจของผู้คน และชุมชนด้วยการสื่อสารเชิงรุก การอบรม การเทศน์ แสดงธรรม ตลอดจนมอบคติธรรม ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทั้งในสถานที่ นอกสถานที่ โรงเรียน โรงงาน และสื่อสังคมออนไลน์ 


ไตรสิกขาในทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าเป็นหัวใจและเครื่องมือสำคัญของศึกษา/ฝึกฝนตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา อันเป็นแนวทางในการศึกษาของมนุษย์ มีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน คือการดำรงชีวิตให้เกิดปกติสุข มองเห็นโลกจากความเป็นจริง ไปจนถึงระดับอธิปัญญาสิกขาที่มีเป้าหมายที่การกำจัดกองกิเลสและนำไปสู่การพัฒนาจิตในระดับละเอียดพ้นจากกองทุกข์ สิ่งที่สะท้อนภาวะของความสำเร็จในการศึกษาตามแนวทางของไตรสิกขา คือ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมที่พระสงฆ์นิยมนำมาใช้ในการพัฒนาบุคคลให้สามารถดำรงชีวิตและปรับตัวในสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับคำว่า สุขภาพทางปัญญา ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของจิตใจที่เกิดจากการเข้าถึงความจริง คุณค่า และความหมายอย่างรอบด้าน ทั้งตนเอง ผู้อื่น ธรรมชาติ และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวศรัทธา (ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 .. 2565)


บทบาทของพระสงฆ์ ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาพของชุมชนและสังคม ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในกิจของสงฆ์ บรรจุในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ .. 2560 ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ภายใต้แผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ .. 2560

นอกจากบทบาทของพระสงฆ์ (พระคิลานุปัฎฐาก) และวัดในการดูแลสุขภาพกายของพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนทั่วไปแล้ว ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาแล้ว ยังทำหน้าที่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในมิติอื่น ได้แก่ สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา รวมไปถึงสุขภาพของสังคมโดยรวม ผ่านการใช้ปัญญาในทางธรรม สู่ทางออกของปัญญาในทางโลก หรือสุขภาพทางปัญญา ด้วยการมองปัญหาจากความเป็นจริง การประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา นำไปสู่การฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมในที่สุด


นอกจากการขับเคลื่อนข้างต้นแล้ว การใช้ปัญญาในการมองโลกจากความเป็นจริง ยังสนับสนุนแนวทางการดูแลสุขภาพระยะท้ายของชีวิต ดังตัวอย่างเครือข่ายพระคิลานธรรม ซึ่งมีการก่อตั้งเมื่อประมาณ ..2555 โดยพระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ  ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพร้อมด้วยญาติโยมจิตอาสาเข้ามาทำงานเยียวยาจิตใจผู้ป่วยให้เกิดความคลายกังวล มีความกล้าเผชิญกับอาการเจ็บป่วยและความตายด้วยหลักธรรมของพระพุทธศาสนา


ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับปัจจุบัน ยังคงส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของพระสงฆ์ในฐานะของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาโดยการขับเคลื่อนพลังบวร (บ้านวัดราชการ) ร่วมกันของหน่วยงานภาคี โดยมีพระสงฆ์และวัดเป็นศูนย์กลางอย่างต่อเนื่อง  

------------------------------

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลังฉบับเดือนมิถุนายน 2566