ครม.ไฟเขียว ‘หน่วยงานรัฐ’ ต้องจัด ‘ห้องน้ำสาธารณะ’ สำหรับ LGBTQ+ สอดรับมติสมัชชาสุขภาพ
28 มิถุนายน 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ครม.รับทราบความคืบหน้าหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หลังหารือเห็นด้วยควรมีห้องน้ำให้คนหลากหลายทางเพศ คำนึง 3 ด้าน 'ปลอดภัย-สะอาด-สะดวกใจ' ส่วนมท.ส่งหนังสือเวียนหน่วยงานจัดห้องน้ำสำหรับ LGBTQ+ ด้านก.ท่องเที่ยวฯ มีแปลนห้องน้ำสากลเป็นแบบ รองรับความหลากหลาย 


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 รับทราบประเด็นรายงานผลลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ (กลุ่ม LGBTQ+) หลังมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมให้มีการจัดห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ

 

ทั้งนี้ ผลการประชุมหารือพิจารณาทุกหน่วยงาน เห็นด้วยกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมจากห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง โดยต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ  3 ประการ ได้แก่ 1. ความปลอดภัย เช่น ต้องไม่ตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวหรือลับตา 2. ความสะอาด ต้องถูกสุขลักษณะ สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศของ สธ. และ 3. ความสะดวกใจของผู้ใช้บริการทุกเพศ

 

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนในส่วนหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีหนังสือไปยังหน่วยงานภายใน เพื่อขอความร่วมมือให้จัดให้มีห้องสุขาสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างน้อย 1 ห้อง หรือตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ โดยให้ติดป้าย All Gender Restroom และป้ายบอกทางให้ชัดเจนแล้ว

 

ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดทำแบบแปลนห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวระดับสากล เพื่อรองรับทุกเพศทุกวัยรวมถึงผู้พิการ ซึ่งแบบแปลนดังกล่าวสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ต่างๆ ได้

 

ในส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ประชุมปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) พิจารณา

 

ซึ่งควบคู่ไปกับส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผ่านกลไกผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชายและศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐจำนวน 138 หน่วยงาน ให้สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับประเด็นดังกล่าว ที่ครม.เห็นชอบให้มีการจัดห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ ยังสอดรับกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ซึ่งมีมติให้ทุกภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนประเด็น 'วิถีเพศภาวะ เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว'ให้มีการส่งเริมความเข้าใจในสังคมถึงวิถีเพศสภาวะที่ในสังคมมีประชาชน 'ทุกเพศ' ไม่จำกัดเพียงแค่ชายหญิงเท่านั้น ซึ่งการส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจในสังคมต่อประเด็นนี้ จะเป็นการช่วยให้สังคมได้ส่งเสริมและปฏิบัติต่อคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม และจะทำให้ภาพรวมเกิดความเป็นธรรมทางเพศในสังคม ซึ่งเป็นการทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน