
หว่านเมล็ดพันธุ์ ‘3 เขตสุขภาพ’ ฟูมฟักความเข้าใจ ‘สิทธิตายดี’ สช. คิกออฟ workshop 3 เวที เตรียมพร้อมเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง29 มิถุนายน 2566
สร้าง ‘ความเข้าใจ’ ในพื้นที่ นำไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
นี่คือหมุดหมายสำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ต้องการ ‘สานพลัง’ ภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างการรับรู้ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ และความยั่งยืนในท้ายที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง ‘สิทธิ’ ซึ่งเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับสมาชิกทุกคนในสังคม
ในที่นี้เราขอพูดถึง ‘สิทธิการตาย’ หรือสิทธิที่จะ ‘กำหนดวาระสุดท้ายของชีวิต’ ด้วยตัวของตัวเอง ซึ่งประเทศไทยได้บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
“บุคคลมีสิทธิทําหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
พูดให้ชัดก็คือมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า จะต้อง 1. ต้องป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต และ 2. ต้องเป็นการรักษาที่เป็นไปเพื่อ ‘ยืดการตาย’ เท่านั้น
หากองค์ประกอบครบถ้วน ก็สามารถที่จะเลือก ‘ปฏิเสธการรักษา’ ได้
สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิตามมาตรา 12 ปัจจุบันมีผู้รับรู้กว้างขวางขึ้น พบจำนวนการทำ ‘หนังสือแสดงเจตนา’ การดูแลตนเองในระยะท้าย หรือ Living will เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สช. ยังคงเดินหน้าให้ความรู้-รณรงค์ เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเตรียมสานพลังกับหน่วยบริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตสุขภาพ จำนวน 3 เขต ได้แก่ เขต 4, เขต 7 และ เขต 12 จัดเวทีใหญ่ 3 เวที ในเดือน ก.ค. 2566 นี้
เวทีดังกล่าวจะพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมายคือ ‘ภาคประชาชน-ประชาสังคม’ ที่จะเข้ามาร่วมเสวนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ 'สร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต สร้างสุขที่ปลายทาง' ซึ่ง สช. จะจัดขึ้นทั้งหมด 3 เวที ในพื้นที่ 3 เขตสุขภาพ ในเดือนก.ค. 2566 นี้
สาเหตุที่ สช. มุ่งเป้าไปยังภาคประชาชน เนื่องจากในปี 2564 ได้มีการจัดกระบวนการโดยเน้นที่ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ มาแล้ว ขณะที่ปี 2565 ก็ได้ลงลึกไปถึงบุคลากรแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ภาคส่วน ‘ผู้ให้บริการ’ จึงมีทัศนคติและความเข้าใจที่ดีขึ้น ในปีนี้ 2566 จึงขยับมาที่ภาคประชาชนเป็นหลัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับวิธีการ แนวทางการเขียน Living will เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ความต้องการของตัวเองสำหรับการเลือก หรือปฏิเสธการรักษาเมื่อถึงระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมีบุคลากรแพทย์ และนักวิชาการคอยให้คำแนะนำ และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสิทธิการตายดี ร่วมกันกับภาคประชาชน
สำหรับกำหนดการเวทีเสวนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ 'สร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต สร้างสุขที่ปลายทาง'
เวทีแรก จะเริ่มในวันที่ 7 ก.ค. 2566 ที่ จ.ขอนแก่น จัดโดย สช. ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 7 และสถานพยาบาลในพื้นที่
เวทีที่สอง จัดในวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ จ.สงขลา จัดโดย สช. ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 12 และสถานพยาบาลในพื้นที่
เวทีสุดท้าย จัดที่ จ.นครนายก ในวันที่ 27 ก.ค. 2566 ซึ่งจัดโดย สช. ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 4 และสถานพยาบาลในพื้นที่เช่นกัน
สำหรับกิจกรรมภายในงานนั้น ช่วงเช้าจะมีบุคลากรการแพทย์ นักวิชาการ รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิการตายดี และการเขียนหนังสือแสดงเจตนา หรือ Living will มาบรรยายให้ความรู้กับภาคประชาชน
รวมไปถึงให้เห็นถึงความสำคัญ ประโยชน์ที่จะได้รับหากมีการวางแผนดูแลตัวเองล่วงหน้าเมื่อระยะสุดท้ายมาถึง
ขณะที่ช่วงบ่าย จะเป็นการประชุมปฏิบัติการ หรือ Workshop ร่วมกัน เพื่อให้ภาคประชาชนได้เรียนรู้ และได้ทดลองเขียน Living will ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้นำเอาความรู้ความเข้าใจนี้ไปถ่ายทอด ส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัวได้เข้าใจ รวมถึงในชุมชนด้วยเช่นกัน
ในปี 2566 สช. นำร่องขับเคลื่อน 3 พื้นที่เขตสุขภาพ และมีแผนจะขยายไปสู่อีก 10 เขตสุขภาพที่เหลือ จนครบ 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ภายในปี 2567