ปั้น ‘สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา’ ปี 66 ภาคีร่วมหารือ-ออกแบบจัดงานครั้งที่ 2 เดินหน้าเชื่อมโยงการท่องเที่ยว-สุขภาพ เล็งสร้างข้อตกลง ‘ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ’
30 มิถุนายน 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จากความสำเร็จในก้าวแรกของ 'เมืองพัทยา' จ.ชลบุรี ที่ภาคีเครือข่ายและสมาชิกสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ร่วมกันผลักดันจนทำให้เมืองแห่งนี้เกิดเวทีใหญ่ครั้งแรกคือ สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคนในเมืองพัทยา

 

สำหรับงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเมืองพัทยาจัดขึ้นตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ภายใต้ธีม “การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ” ถือเป็นกิจกรรมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของพื้นที่ ที่ระดมเอาภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมกันพิจารณาประเด็นด้านสุขภาวะที่สำคัญ

 

ภายในสมัชชาสุขภาพฯ ดังกล่าว ได้มีฉันทมติร่วมกันออกมา 2 ระเบียบวาระ คือ 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2. การจัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นทั้งข้อเสนอและแนวทางเพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาครั้งนี้



 

แน่นอนว่าเมืองพัทยาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะขณะนี้ภาคีเครือข่ายก็กำลังร่วมกันสานต่อให้มีการจัดและขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาต่อไปในปีนี้ด้วย

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เกิดวงหารือพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการทำงานของคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) ที่จะเป็นคณะทำงานชุดใหม่ เข้ามาจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาครั้งต่อไป

 

ในส่วนของวงพูดคุยดังกล่าว ได้มีการหารือใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. คำสั่งแต่งตั้ง คจ.สพ. ชุดใหม่ 2. ภาพรวมการจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 และ 3. แนวทางการทำงานของ คจ.สพ. ในปี 2566 

 

ขณะที่ผลการหารือพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนี้ ได้สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนของ คจ.สพ. ปี 2566 ที่จะครอบคลุมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 รวมถึงแนวทางการพัฒนาระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ในปี 2566 เพื่อเดินหน้าการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่เมืองพัทยา ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะ

 

สรศักดิ์ ทองบงเพชร ในฐานะกรรมการ คจ.สพ. และหนึ่งในตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ให้ข้อมูลว่า จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้น ได้มีแนวความคิดถึงประเด็นในงานสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 เรื่องของการจัดการพื้นที่สาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพเมืองพัทยา” ที่อาจนำไปใช้เป็นกติกาข้อตกลงร่วมกันจากทุกฝ่าย ในการจัดการพื้นที่เมืองพัทยาเพื่อรองรับกลุ่มอาชีพต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะถูกกำหนดเพื่อขับเคลื่อนร่วมกันนั้น ยังจะต้องรอการประชุมอีกครั้งอย่างเป็นทางการของ คจ.สพ. ที่จะระดมภาคีเครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมนำเสนอ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือน ส.ค. 2566 นี้ และจะมีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ มากขึ้น บนภาพรวมที่จะยังคงเดินหน้าตามเจตจำนงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกภาคส่วนในเมืองพัทยา



 

“แต่ละประเด็นที่จะพูดคุยกันต่อไปในวงประชุมใหญ่ของ คจ.สพ. เพื่อให้เป็นมติขับเคลื่อนงานสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาครั้งต่อไป ที่จะต้องสอดรับกับการขับเคลื่อนสมัชชาฯ ที่ผ่านมา คือมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสุขภาพ” สรศักดิ์ อธิบาย

 

อีกหนึ่งบทบาทในฐานะเลขานุการชุมชนตำบลเกาะล้าน สรศักดิ์ จึงยังได้มีส่วนบอกเล่าถึงการขับเคลื่อน “ธรรมนูญเกาะล้าน” ว่าขณะนี้ภาคีเครือข่ายใน ต.เกาะล้าน จ.ชลบุรี ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างให้เกิดธรรมนูญระดับพื้นที่ อันจะเป็นกติกาการอยู่อาศัย การท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันเป็นฉบับแรกของชุมชน

 

“หากมีโอกาสเราก็อยากจะเสนอประเด็นธรรมนูญเกาะล้าน เพื่อให้ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเกาะล้าน ร่วมกันไปกับเรา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับการพัฒนาพื้นที่เมืองพัทยาอย่างเป็นองค์รวมไปพร้อมๆ กัน” เขาทิ้งท้าย

 

อนึ่ง สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 เป็นการเชิญชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของเมืองพัทยา ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ชุมชน รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว เข้ามาร่วมกันกำหนดประเด็นและออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา พร้อมกับการประกาศพันธะสัญญาที่จะร่วมกันรับผิดชอบและขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อต่อยอดจากเมืองท่องเที่ยว ไปสู่เป้าหมายภายใต้ความเป็นมิตรกับสุขภาพ