วิจัย ‘ค่าใช้จ่าย’ เดือนสุดท้ายของชีวิต ‘สังคมสูงวัย’ ละลาย ‘งบ’ ระบบสุขภาพ ชูทางออก ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ สช.-ภาคี ลุยสร้างความเข้าใจประชาชน
3 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

คลื่นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร กำลังซัดกระหน่ำมายัง “ระบบสุขภาพ” ของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

ด้วยสถานการณ์ “สึนามิผู้สูงวัย” ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนเส้นทางที่มุ่งสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) แน่นอนว่าระบบสุขภาพไทยจำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการดูแลจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านกำลังคน รวมไปถึงงบประมาณ

 

นั่นเพราะจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ย่อมมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยตามสังขารของร่างกาย แม้ผู้สูงวัยส่วนหนึ่งจะยังสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ในอีกส่วนก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วย “ติดบ้าน-ติดเตียง” หรือเข้าสู่ในช่วงระยะท้ายของชีวิต ก็จะยิ่งมีความต้องการการดูแลที่มากขึ้น

 

หากพิเคราะห์จากผลงานวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ที่ทำไว้ในปี 2559 อาจพอให้เราเห็นภาพและคาดการณ์อนาคตของผู้สูงวัยที่ต้องได้รับการดูแลในช่วงระยะท้ายของชีวิตได้มากขึ้น

 

งานวิจัยนี้ได้เทียบเคียงตัวเลขการประเมินจากในปี 2560 ที่มีจำนวน “ผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียง” อยู่ 1.3 - 1.7 แสนคน และจะขยับขึ้นเป็น 3.1 - 5.2 แสนคนในปี 2580 ขณะที่จำนวน “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ในปี 2560 ที่มีอยู่ 1.3 แสนคน ก็จะเพิ่มขึ้นไปถึง 2.6 - 3 แสนคนในปี 2580

 

นำมาสู่การคาดการณ์ตัวเลข “ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลในระบบสุขภาพ” จากปี 2560 อยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะพุ่งทะยานขึ้นไปสู่ตัวเลข 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2580

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ถูกสะท้อนถึง คือการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุที่มักป่วยด้วยโรค “มะเร็ง” ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษา แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม เกิดเป็นค่าใช้จ่ายมากมายที่ตามมา โดยพบว่าใน “เดือนสุดท้าย” ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต นั้นมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยถึง 4.5 หมื่นบาทต่อคน หรือบางรายอาจสูงถึง 3.4 แสนบาท หากต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

ทว่าตัวเลขทั้งหมดนี้ อาจจะลดลงได้เหลือเพียงราว 2.4 4 หมื่นบาทเท่านั้น หากเป็นการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ในที่พักของผู้สูงอายุเอง

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เราเห็นความสำคัญของระบบการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ได้มากขึ้น ซึ่งจะมีบทบาทหลักในการเข้ามาช่วยหนุนเสริมการรองรับให้กับระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต



 

หน่วยงานหลักที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมุมมองจาก สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เน้นย้ำว่าการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care จะเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ทั้งในแง่ของการจัดการงบประมาณด้านสาธารณสุข รวมไปถึงในแง่ของการพัฒนาสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประเทศ

 

เขาเล่าว่า หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องตระหนักรู้ คือความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนเตรียมพร้อมเพื่อดูแลชีวิตตัวเองล่วงหน้า โดยเฉพาะสิทธิที่มีอยู่ตาม “มาตรา 12” ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งให้สิทธิคนไทยไว้ในการแสดงเจตนาล่วงหน้าเมื่อ “วาระสุดท้ายของชีวิต” มาถึง จะขอจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยปฏิเสธการรักษาที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย

 

เจตนาดังกล่าวยังเป็นการช่วยระบบสุขภาพได้ในภาพรวม ทั้งบุคลากรแพทย์ สถานพยาบาล ที่สามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ไปทำหน้าที่รักษาสุขภาพให้กับประชาชนที่จำเป็น รวมไปถึงช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

 

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ขณะนี้ สช. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 12 ผ่านเวทีเสวนา “สร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต สร้างสุขที่ปลายทาง”

 

เวทีดังกล่าวจะจัดขึ้นในพื้นที่ 3 เขตสุขภาพ ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 7 ในวันที่ 7 ก.ค. 2566, เขตสุขภาพที่ 12 วันที่ 18 ก.ค. 2566 และเขตสุขภาพที่ 4 วันที่ 27 ก.ค. 2566 ก่อนที่ในปี 2567 จะมีการขยายเวทีไปทุกพื้นที่ของประเทศ บนความคาดหวังให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบดูแลผู้สูงอายุของประเทศในอนาคต

 

สุทธิพงษ์ ระบุด้วยว่า ภาคประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญ ในการเข้ามาร่วมพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในระยะท้าย โดยเฉพาะการเข้าใจถึงสิทธิด้านสุขภาพ และรวมถึงการเขียนหนังสือแสดงเจตนารับหรือไม่รับบริการสาธารณสุขเมื่อถึงระยะสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will ซึ่งจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทนทุกข์ทรมาน

 

นอกจากนี้ในกลุ่มเป้าหมายภาคประชาชน ยังรวมไปถึงผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรศาสนา กลุ่มอาสาสมัครจากเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้นำเอาความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางการเขียนหนังสือ Living Will ไปกระจายต่อในชุมชน อีกทั้ง ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและผู้สูงอายุร่วมกัน เพราะสถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันจัดการ

 

“ภาคสังคมและสาธารณะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคนในชุมชน ไม่ทอดทิ้งกัน โดยรูปแบบการจัดการ อาจเกิดเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เกิดเป็นระบบการดูแลที่ชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบตามความต้องการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย รวมไปถึงผู้สูงอายุที่ต้องดูแลในชุมชน ได้มีสุขภาวะที่ดี ไม่ทุกข์ทรมานก่อนจากไปตามธรรมชาติ” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ