สช.ร่วมผนึกกลไก ‘คณะทำงาน HSIU’ สังเคราะห์ความรู้การถ่ายโอน รพ.สต. ศึกษา ‘กระบวนการมีส่วนร่วม’ บนงานวิจัย สู่การยกระดับการจัดการสุขภาวะในพื้นที่
6 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นับเป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังดำเนินบนหน้าประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย และทิศทางการเดินหน้าระหว่างนี้เต็มไปด้วยบทเรียนประสบการณ์มากมาย อันควรค่าที่จะเกิด “กลไกกลาง” เพื่อทำหน้าที่รวบรวมความรู้นำไปสู่การสังเคราะห์และต่อยอด

 

กลไกนั้นมีชื่อว่า Health System Intelligent Unit: HSIU

 

สำหรับ HSIU เป็นคณะทำงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อดึงเอาภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ตัวแทนสถานพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมไปถึงตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามาร่วมกันประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ จากกรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในครั้งนี้

 

เป้าหมายหลักของคณะทำงาน จะร่วมกันกำหนดทิศทางของงานวิจัย ภายใต้ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ติดตามสถานการณ์การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. 2. กำหนดเป้าหมาย ทิศทางการทำงาน วางกลยุทธ์ที่เป็นชุดความรู้ตอบสนองต่อสถานการณ์ระบบสุขภาพและนโยบายสุขภาพ 3. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อภิปรายข้อมูลวิชาการ เชื่อมโยงข้อมูลวิชาการกับความต้องการเชิงนโยบาย และนำไปสู่การปฏิบัติ 4. สังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. 

 

โดยหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมอยู่ในคณะทำงาน HSIU นี้คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 



จารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช. ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ระบุว่า สช. เข้าไปมีบทบาทในการร่วมเสนอความคิดเห็น กลั่นกรองข้อเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการวิจัยของนักวิจัย ที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของการถ่ายโอน รพ.สต.

 

เขาอธิบายว่า กรอบการทำงานของคณะทำงาน HSIU จะเปรียบเสมือนคณะกรรมการกำกับทิศทางของงานวิจัย โดยวางเป้าหมายร่วมกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการสุขภาพจากท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงไปยัง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในระดับชุมชนด้วย

 

ทั้งนี้ นอกจาก สช. จะมีบทบาทในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ “กระบวนการมีส่วนร่วม” สำหรับการวิจัยของนักวิจัยในพื้นที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีบทบาทในการดำเนินงานวิจัยเองด้วยเช่นกัน

 

จารึก ให้ภาพว่าการเข้าไปดำเนินงานวิจัยในระดับพื้นที่ของ สช. จะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม โดยเป็นงานวิจัย 2 เรื่องที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงาน HSIU ประกอบด้วย 1.  การยกระดับศักยภาพรับมือภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน และ 2. โครงการพัฒนากลไกความร่วมมือของ อปท. เพื่ออภิบาลระบบบริการสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อปท.

 

สำหรับงานวิจัยทั้งสองชิ้นที่ สช. ได้ร่วมดำเนินการนี้ จะสอดรับกันในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสุขภาวะ ผ่านการมีส่วนร่วมจัดการบริการสุขภาพในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงไปยังแผนการจัดการสุขภาพในระดับจังหวัด ที่จะเป็น “ธรรมมนูญสุขภาพ” ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในภาพรวมของประชาชน ในจังหวัดที่เป็นกลุ่มพื้นที่ทำการวิจัยด้วย



 

“ผลลัพธ์ของการวิจัย ยังจะเป็นข้อมูลที่ถูกสังเคราะห์ผ่านกระบวนการ เพื่อให้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเชิงนโยบาย สำหรับการพัฒนาการบริการสุขภาพเมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. รวมไปถึงเป็นชุดข้อมูลที่จะช่วยให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น” เขาอธิบาย

 

ผอ.สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะฯ รายนี้ยังย้ำด้วยว่า เป้าหมายที่ สช. เข้าไปร่วมกับคณะทำงาน HSIU ในด้านหนึ่งคือเพื่อร่วมวางกรอบการวิจัยในภาพรวมของประเทศร่วมกับภาคีเครือข่าย แต่ในอีกด้านสำหรับงานวิจัยที่ สช. ดำเนินการ ก็จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดการสุขภาวะในระดับพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับชุมชนเชื่อมไปสู่ระดับจังหวัด พร้อมกับเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นได้เดินตาม

 

“ผลการวิจัยจะเป็นชุดข้อมูลที่อาจนำไปใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมจัดการสุขภาพในภาพใหญ่ของประเทศได้” จารึก ระบุ