สช.-ภาคีลงพื้นที่ 'วัดป่าโนนสะอาด' ร่วมเรียนรู้การจัดตั้ง 'ศูนย์พุทธวิธีฯ' ดูแลพระสงฆ์อาพาธ-ผู้ป่วยระยะท้าย ภายใต้ 'ธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ฯ ฉบับ 2'
6 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.จับมือภาคีเครือข่ายลงพื้นที่โคราช ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้ง "ศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย" วัดป่าโนนสะอาด ขับเคลื่อนงานสุขภาพพระสงฆ์เชื่อม "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2"


เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ นำโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมกับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้ง "ศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย" ณ วัดป่าโนนสะอาด อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา


สำหรับการลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ "พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" โดยคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ได้มีมติรับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566


ทั้งนี้ การดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย นับเป็นเรื่องที่คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญในการที่จะส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าว โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการบริการสุขภาพของชุมชนและสังคม ผ่านงานกิจการคณะสงฆ์ที่เผื่อแผ่ความเมตตาให้กับสังคม




พระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต) กล่าวปฏิสันถารผู้เข้าร่วมประชุมตอนหนึ่ง ระบุว่า การที่คนเรามีความทุกข์มากเนื่องจากไม่ยอมรับความเป็นจริง โดยการดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตควรไปด้วยกัน ดังนั้นกำลังใจทั้งของญาติและผู้ป่วยจะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญ และหากสามารถทำขยายต่อไปได้ก็จะเป็นประโยชน์


"ศาสนาพุทธมีต้นทุนในเรื่องนี้อยู่มาก เราจะทำอย่างไรที่จะนำเอาสิ่งที่พุทธศาสนามีอยู่ ไปใช้ประโยชน์ต่อทั้งพระและประชาชน โดยพระมีความรู้ มีประสบการณ์หลายอย่าง น่าจะเอาความรู้เหล่านี้ไปทำให้เกิดบุญเกิดกุศลต่อไป" พระราชวชิราลังการ ระบุ


พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม วัดป่าโน่นสะอาด กล่าวว่า ศูนย์การตายดีของชาวพุทธนั้นมีอยู่เป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งผู้ป่วยที่รอวันตายนั้นสามารถยกระดับจิตสู่ฌาญได้จริง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ดังคำกล่าวของพระพุทธเจ้าที่ได้ให้ไว้ก่อนปรินิพานว่า 'วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ' แปลว่า 'สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด'


ขณะที่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายคฤหัสถ์ กล่าวว่า ที่มาของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของพระสงฆ์ และการให้บริการสุขภาพพระสงฆ์ที่ยังเข้าไม่ถึงพระสงฆ์อย่างแท้จริง จึงได้มีการนำข้อห่วงใยดังกล่าวไปกราบเรียนท่านพระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต ซึ่งท่านได้ให้หลักการสำคัญคือ 'ใช้ทางธรรม นำทางโลก' จึงเป็นที่มาของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1




ในส่วนของธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าวดำเนินภายใต้ความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนได้น้อมนำไปปฏิบัติ จนเกิดรูปธรรมต่างๆ ตามมา อาทิ การขึ้นทะเบียนพระสงฆ์เพื่อให้เข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพ มีการพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ด้วยกันเอง เกิดวัดต้นแบบในการดูแลสุขภาพให้กับฆรวาส ดังนั้นธรรมนูญฯ ฉบับนี้จึงเป็นกรอบที่ทำให้เกิดการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย โดยปัจจุบันได้มีการทบทวนและจัดทำเป็น ฉบับที่ 2 แล้ว


"ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม และเสริมงานของวัดประชารัฐสร้างสุข โดยศูนย์พุทธวิธีฯ วัดป่าโนนสะอาด ที่มาดูงานในวันนี้ เป็นงานซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบบริการสุขภาพในระดับชาติมีความประสงค์จะให้เกิดขึ้น คือการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความเมตตาของพระสงฆ์ที่จะเมตตาต่อชุมชนด้วย" นพ.ณรงค์ศักดิ์ ระบุ


นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 9 กล่าวว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในกลุ่มจังหวัดเขตพื้นที่ 9 ได้ขยายออกไปทุกจังหวัด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน มีเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน พร้อมมีการกำหนดกิจกรรมที่พระและฆราวาสร่วมกันพัฒนาใน 6 ด้าน คือ 1. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัดให้น่าอยู่ 2. พระสงฆ์และฆราวาสปฏิบัติ 5 อ. 3. มีการดูแลสุขภาพระสงฆ์ทุกมิติ 4. มีการตรวจสิทธิหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์ 5. จัดถวายความรู้ให้พระสงฆ์เป็นพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) และ 6. จัดทำข้อมูลพระสงฆ์ให้ถูกต้อง




ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตัวอย่างศูนย์พุทธวิธีฯ วัดป่าโนนสะอาด ถือเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งวัดและคณะสงฆ์ต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา เพราะเป็นศูนย์กลางของสังคมและชุมชน โดยในด้านการให้บริการสุขภาพนั้น ประเทศไทยยังขาดระบบบริการสุขภาพในระยะกลาง และระยะสุดท้าย


"การฟื้นฟูผู้ป่วย กับระบบที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ต้นทุนที่สังคมไทยเรามีอยู่ก็คือ วัด ถ้าหากมีการสำรวจวัดที่พร้อมว่ามีจำนวนเท่าไร และกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในการออกมาตรฐานของหน่วยให้บริการ สปสช.ทำหน้าที่สนับสนุนชุดสิทธิประโยชน์ในการให้บริการ สสส. ทำหน้าที่ในการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพ สช. ทำหน้าที่ในประสานความร่วมมือเชิงนโยบาย ถ้าหน่วยงานร่วมมือกันประเทศไทยก็จะมีระบบการดูแลทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ" นพ.ประทีป ระบุ


อนึ่ง หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ อาทิ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม, คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 และเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม