คนสูงวัย ‘หกล้ม’ ปัญหาระดับโลก นักวิจัยสหรัฐฯ ทุ่มงบ-สรรพกำลัง ควานหา ‘ต้นตอ’ เพื่อลดความเสี่ยง ข้อค้นพบใหม่! สัมพันธ์กับการใช้ยา
3 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

บางครั้งปัจจัยเสี่ยงอันร้ายแรงต่อสุขภาพของ “ผู้สูงอายุ” อาจไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บที่ซับซ้อน หากแต่เป็นสิ่งสามัญที่ควรจะถูกป้องกันได้ง่ายๆ อย่างอุบัติเหตุจากการ “หกล้ม” ซึ่งเมื่อเกิดกับกรณีของผู้สูงอายุแล้ว ผลกระทบนี้กลายเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

 

แม้เราจะมองว่าการหกล้มควรเป็นเรื่องที่ถูกป้องกันได้ง่ายๆ หากแต่ข้อค้นพบใหม่จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา กำลังบอกเราว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้ป้องกันได้ง่ายเหมือนที่คิด เพราะผู้สูงอายุชาวอเมริกันยังคงต้องเข้ารับการรักษาพยายาบาลในโรงพยาบาลมากขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากการพลัดตกหกล้มนี่เอง

 

งานศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสาร JAMA network เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 เผยว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามนำวิธีการต่างๆ มาป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม แต่จนแล้วจนรอดอัตราการล้มก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 1.5% ในทุกปี จากสาเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่

 

“นี่แสดงให้เห็นว่าวิธีที่เราใช้ป้องกันยังไม่ได้ผล และประชากรของเราก็ยังมีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการลงทุนเพื่อหาทางป้องกัน เช่น สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันการล้ม รวมถึงการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและระมัดระวังในการล้ม จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้” จอฟฟรีย์ ฮอฟฟ์แมน ศาสตราจารย์จาก U-M School of Nursing และหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย ระบุ

 

กระนั้นนักวิจัยก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดการล้มจึงมีเพิ่มมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้นักวิจัยที่ติดตามเรื่องของการ “ล้ม” ได้มุ่งเน้นไปที่ปัจจัยด้านอายุ หากแต่ผลการศึกษาเพิ่มเติมแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงของสุขภาพและ “ผลจากการใช้ยา” ในกลุ่มประชากรที่ล้ม

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุที่ “กระฉับกระแฉง” กว่าผู้อื่น กลับมีแนวโน้มที่จะล้มได้มากกว่า ซึ่งข้อค้นพบต่างๆ เหล่านี้กำลังนำไปสู่ข้อสรุปส่วนหนึ่งว่า การดูแลรักษาผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยต้องให้ความใส่ใจในการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บจากการล้มมากขึ้น

 

ฮอฟฟ์แมน เสริมอีกว่า อัตราการล้มและบาดเจ็บจากการล้มในแต่ละพื้นที่นั้น ยังมีอัตราที่สูงต่ำแตกต่างกันอย่างน่าตกใจ โดยในพื้นที่ที่มีอัตราการล้มสูงมากๆ สามารถสูงได้ถึง 75% ของจำนวนการล้มในประชากรผู้สูงอายุ ขณะที่ในพื้นที่ต่ำสุดอยู่เพียง 10% เท่านั้น

 

“อัตราส่วนที่เราเห็น แสดงถึงความเกี่ยวโยงกันของปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการล้มมากกว่าที่เราเคยนึกถึง ดังนั้นถ้าเราพุ่งเป้าการดูแลและเฝ้าระวังไปยังพื้นที่ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดความคุ้มค้าในการลงทุน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลและป้องกันการล้มได้สูงสุด” ฮออฟ์แมน วิเคราะห์

 

สำหรับในสหรัฐอเมริกา พื้นที่อันมีความเสี่ยงสูงต่อการล้มของผู้สูงอายุ คือบริเวณทุ่งราบภาคกลางและภาคใต้ อย่างไรก็ตามประชากรในพื้นที่นี้มีค่อนข้างน้อย ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลอาจจะต้องมีการประเมินอีกครั้งว่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ตามความเห็นของทีมวิจัย

 

ขณะที่ ลิเลียน มิน ศาสตราจารย์ด้าน Geriatric and Palliative Medicine จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ให้ความเห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ข้อมูลจาก “Medicare” (ระบบหลักประกันสุขภาพระดับชาติสำหรับผู้สูงอายุของสหรัฐอเมริกา) เพื่อจะติดตามดูแลผู้สูงอายุในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และดูแลรักษาการล้มในภาพใหญ่


“การเฝ้าระวังผ่านข้อมูลของ Medicare มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำให้การป้องการการล้มในผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา เช่น ลดการให้ยาที่จะเสี่ยงต่อการเกิดการหกล้มกับผู้สูงอายุ น้อยกว่าที่ผ่านมา” มิน ระบุ

 

ส่วนเรื่องความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศ อันส่งผลต่ออัตราการล้มที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละพื้นที่ ฮอฟฟ์แมน กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ส่งผลแต่อย่างใด และประเด็นสำคัญจริงๆ คือข้อจำกัดของสิทธิในการดูแลรักษาของ Medicare

 

“อัตราการเจ็บป่วยต่างๆ กำลังสูงขึ้นในบรรดาผู้ใช้สิทธิ Medicare ที่มีอายุยืนยาว นั่นแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงสัดส่วนประชากร ผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หลักประกันสุขภาพก็เกิดข้อจำกัด เพราะ Medicare นั้นครอบคลุมเพียงแค่การรักษาอาการบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ครอบคลุมการฟื้นฟูดูแลระยะยาว ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้มากกว่า จึงทำให้ขณะนี้เป็นการยากมากที่จะเอาชนะความเสี่ยงต่อการล้มในผู้สูงอายุ” ฮอฟฟ์แมน อธิบาย

 

ปัจจุบัน การล้มกำลังส่งผลกระทบถึงผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกากว่า 4.5 ล้านคน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของ Medicare ประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี (1 ล้านล้านบาทโดยประมาณ) ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการล้มของผู้สูงอายุยังมีอยู่อย่างจำกัด และหลายครั้งก็ไม่ถูกนับเข้าไปในระบบ

 

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยได้รายงานว่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2562 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการล้มมากขึ้น 1.5% ทุกปี โดยคิดเป็นปีละ 106,000 ราย และคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษากว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับประเทศไทย ได้มีการรายงานจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใน “รายงานการพยากรณ์การพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2560-2564” ระบุว่าในระหว่างปี 2560-2564 ผู้สูงอายุในไทยกว่า 5 ล้านคนเกิดการหกล้ม และมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นเดียวกัน โดยในจำนวนผู้สูงอายุที่หกล้ม ประมาณ 1 หมื่นคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทุกๆ ปี

 

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวของสำนักโรคไม่ติดต่อ ระบุว่า การพลัดตกหกล้มป้องกันได้โดยใช้ทีมสหสาขาเข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยง ปรับเปลี่ยน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในผู้สูงอายุตามชุมชน โดยจากการศึกษาพบว่าจะสามารถลดการล้มของผู้สูงอายุได้มากถึง 25-30% หรือคิดเป็นประมาณ 9 แสนรายต่อปี


เมื่อโลกทั้งใบกำลังเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องสามัญที่มักถูกมองข้ามอย่างการ “ล้ม” ก็คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเป็นเรื่องจริงจัง เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชากรต่อไป

 

อ้างอิง

http://www.thaincd.com/document/file/violence/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%20%E0%B8%9B%E0%B8%B5%202560-2564.pdf
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2788979

https://www.sciencedaily.com/releases/2022/02/220223094312.htm