สช.หนุนเสริมพลังภาคประชาชน สร้างความรอบรู้ 'Health Literacy' ผ่านกลไก 'การคุ้มครองผู้บริโภค' เลือกซื้อสินค้า-บริการสุขภาพที่ดี11 กรกฎาคม 2566
สช.ลุยเดินหน้าหลังร่วมลงนามกับภาคี 5 องค์กร ยกระดับศักยภาพงาน “คุ้มครองผู้บริโภค” เล็งหนุนเสริมพลังให้ภาคประชาชนรู้เท่าทัน มีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า-บริการด้านสุขภาพ รองเลขาธิการฯ ย้ำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือการสร้างความเป็นธรรมในสังคม สอดรับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับ 3
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานการพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ลงนามความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหน่วยงาน 5 องค์กร เพื่อที่จะบูรณาการทำงานร่วมกัน ให้เกิดการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนากฎหมายที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองประชาชน และหนุนเสริมความรอบรู้เท่าทันให้กับภาคประชาชน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ
สำหรับภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่ร่วมลงนามอีก 5 องค์กร ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) โดยในส่วนของ สช. จะเข้ามาหนุนเสริมพลัง (Empower) ให้กับภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy เพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่ภาคประชาชนเท่าทัน และตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้
รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากองค์ประกอบของสังคมในทุกมิติ จะเกี่ยวข้องกับการอุปโภค-บริโภคของประชาชน ทั้งสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม การบริการ ซึ่งรวมไปถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภค อาจซื้อสินค้าหรือบริการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้
“ปัจจุบันเรามีองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน หรือกฎหมายที่คุ้มครองอยู่ ซึ่งขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ต้องควบคู่กันไปคือการสร้างช่องทางในการสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคไปสู่ประชาชน หรือมีพื้นที่กลางที่มีชุดข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ก่อนตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนจูงใจเลือกผลิตภัณฑ์ หรือรับบริการที่ดี มีคุณภาพ และไม่มีผลเสียต่อสุขภาพได้” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า การสร้างกระบวนการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสานพลังของภาคีเครือข่ายในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค จะเป็นการช่วยให้ภาคประชาชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่เท่าทัน และเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ตัดสินใจในการเลือกบริโภคสินค้าหรือรับบริการได้อย่างถูกต้อง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังจะช่วยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ขณะเดียวกันในภาพรวมยังจะเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับประชาชน เพื่ออยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งความรอบรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรวัดที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เช่นกัน
“การขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังสอดรับกับ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความเป็นธรรมระบบสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย 3 ด้านที่ตั้งเป้าร่วมกัน ได้แก่ 1. การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรม 2. ความเป็นธรรมในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี และ 3. การอภิบาลสังคมอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งการสนับสนุนให้มีมาตรการ หรือแนวทางที่คุ้มครองผู้บริโภค ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติของสังคมด้วยเช่นกัน” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว