เขตทวีวัฒนา ลุยต่อยอด 4 ชุมชน จากดอกผลของ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ สู่การนำร่องแก้ปัญหา ชะลอไตเสื่อม ลดโรค NCDs ด้วยกติกาคนในชุมชน
12 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จากดอกผลของงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 ซึ่งภาคีเครือข่ายคนเมืองกรุงได้ร่วมกันมีมติ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” อันเป็นการสร้างกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะในมิติต่างๆ

 

นำมาสู่การเห็นพ้องร่วมกันว่า ทุกภาคส่วนของทั้ง 50 เขตในพื้นที่ กทม. ควรร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” ขึ้นเพื่อเป็นกติการ่วมกันของคนในสังคม ในการส่งเสริมสุขภาวะ และสานพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นตามบริบทของแต่ละพื้นที่

 

ถัดจากนั้นชื่อของ “เขตทวีวัฒนา” ก็ได้กลายมาเป็น 1 ใน 12 เขตชุดแรกของ กทม. ที่เดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพของตนเอง

 

การก่อกำเนิดของ “ธรรมนูญสุขภาพเขตทวีวัฒนา” เกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่น และภาคประชาชน รวมทั้งหมด 16 ชุมชน ที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนงานสุขภาวะ บนเป้าหมาย 7 ประเด็นที่เห็นพ้องกัน

 

ประกอบด้วย 1. ความร่วมมือด้านสุขภาพของทุกภาคส่วน 2. พฤติกรรมสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ 3. ความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร 4. พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ 5. กลุ่มประชาชนที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง 6. ปัญหาสิ่งแวดล้อม 7. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและอุบัติเหตุจราจร

 

ประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดถูกผสานเข้าไปอยู่ในเนื้อหาของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมของชุมชน เพื่อสร้างแนวทางการจัดระบบสุขภาพของเขตทวีวัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน บนการขยับใน 7 ประเด็น ที่จะถูกแปรให้เป็นผลลัพธ์ในการทำให้ประชาชนเขตทวีวัฒนา กว่า 7.7 หมื่นคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี



 

แน่นอนว่าเมื่อธรรมนูญสุขภาพเขตทวีวัฒนา ถูกขึ้นรูปเป็นกติกาขึ้นมาแล้ว เฟสถัดมาจึงเข้าสู่ช่วงเวลาของการเดินหน้าขับเคลื่อน โดยหนึ่งในแกนหลักอย่าง พญ.สุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา ที่มีส่วนร่วมทั้งในขาขึ้น และขาเคลื่อน ได้เข้ามาอธิบายเรื่องนี้กับ HealthStation เพื่อให้เราเข้าใจกันมากขึ้น

 

เธอระบุว่า การเกิดขึ้นของธรรมนูญสุขภาพเขตทวีวัฒนา ได้ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายในเขตมีความเข้มแข็งขึ้นมาก โดยเฉพาะกับภาคประชาชน ที่ได้ร่วมแสดงถึงความปรารถนาที่ต้องการพัฒนาเขตของตนให้ดียิ่งขึ้น

 

พญ.สุธี ให้ภาพความเข้มแข็งของกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอถึงทางออกของปัญหา รวมไปถึงการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะอุปสรรคปัญหาของแต่ละภาคีเครือข่ายที่มีผลต่อการขับเคลื่อนงานสุขภาวะ เพื่อร่วมกันคลี่ปัญหา พร้อมหาทางออก ทำให้ภาคีเครือข่ายสามารถวางแผนการขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นเฟสที่ 2 ของธรรมนูญสุขภาพเขตทวีวัฒนาได้ทันที

 

“การขับเคลื่อนต่อไป คือจะให้พื้นที่ตัวอย่าง 4 ชุมชน ได้ร่วมกันทำ 'ธรรมนูญสุขภาพระดับชุมชนเมือง' ขึ้น โดยมีเป้าหมายร่วมคือโครงการส่งเสริมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ชะลอไตเสื่อม ซึ่งเป็นประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร โดยขับเคลื่อนการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ การปรุงอาหารที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารสร้างผลกระทบต่อไตของคนในชุมชน ซึ่งหากสำเร็จก็จะขยายต่อไปยังชุมชนอื่นให้ครบ 16 ชุมชน” พญ.สุธี ให้แผนการ

 

ในส่วนของขั้นตอนต่อไป จะนำไปสู่ความร่วมมือของพ่อค้า-แม่ค้า ผู้ขายอาหารในเขตทวีวัฒนา ในการช่วยกันลดปริมาณความเค็มของอาหารลง รวมไปถึงในโรงเรียน สถานศึกษา ที่จะร่วมกันให้ความสำคัญในการปรุงอาหารที่ลดผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันแต่ละชุมชนก็จะได้รับรู้ถึงแนวทางการปรุงอาหาร และเข้าถึงอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

ความคาดหวังจากภาพรวมทั้งหมด คือการส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง

 

ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข รายนี้มองว่า ธรรมนูญสุขภาพระดับชุมชนในพื้นที่นำร่องทั้ง 4 แห่ง จะเป็นอีกหนึ่งกติการ่วม ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมลงลึกไปในระดับชุมชนของ กทม. มากขึ้น อีกทั้งการเลือกนำประเด็น “ความปลอดภัยทางอาหาร” มาขับเคลื่อน ก็ยังสอดรับกับธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ด้วยตรงกับเป้าหมายของเขตทวีวัฒนาเอง ที่ต้องการลดตัวเลขผู้ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคไตให้ลดลง ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนในภาพรวมก็มีความคืบหน้าไปด้วยเช่นกัน



 

ท่ามกลางกระบวนการมีส่วนร่วมที่รุดหน้า ในฐานะองค์กรแกนหลักที่สร้างพื้นที่กลางของการมีส่วนร่วมอย่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ให้แนวทางถึงเรื่องนี้ โดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ทิศทางเสริมถึงการขับเคลื่อนเพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพระดับเขตใน กทม. เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นความยั่งยืน

 

นพ.ปรีดา ระบุว่า สช. จะเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่แต่ละเขต โดยเฉพาะกับภาคชุมชน เพื่อให้เกิดการร่วมกันแก้ไขปัญหาประเด็นสุขภาวะในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไก “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” เป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนในชุมชนเมืองมีส่วนร่วมคิด และร่วมขับเคลื่อนยกระดับสุขภาวะ

 

นอกจากนี้ สช. ยังมาพร้อมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการ จากศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง ที่จะเข้าไปร่วมกับเครือข่ายทั้ง 12 เขต ที่มีธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ในการช่วยเสนอแนะหรือให้แนวทางการทำโครงการขับเคลื่อนตามประเด็นสุขภาวะ รวมถึงแนวทางที่ทำให้ภาคีเครือข่ายระดับเขตสามารถเข้าถึงการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร”

 

“ภาพรวมทั้ง 12 เขต ที่มีธรรมนูญสุขภาพไปแล้ว ก็ยังมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายโครงการที่ขับเคลื่อนสอดรับกับธรรมนูญฯ บนแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่านการมีสุขภาวะที่ดีในทุกด้าน ทั้งทางกาย ใจ ปัญญา และจะเป็นการยกระดับสังคมเขตเมืองขึ้นในภาพรวม” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำถึงเป้าหมาย