จัดล้อมวงคุย 'เขตคลองสามวา' เล็งปั้นธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ภาคีในพื้นที่ร่วมจัดลำดับปัญหา มุ่งจัดการขยะ-ความปลอดภัยถนน
12 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.-มรภ.พระนคร จัดเวทีระดมภาคีในพื้นที่ "เขตคลองสามวา" ร่วมล้อมวงคุยวิเคราะห์ปัญหา-สถานการณ์ วาดภาพฝันอนาคต สู่การเตรียมยกร่าง "ธรรมนูญสุขภาพเขต" แก้ปัญหาสุขภาวะชุมชน


ศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับทีมวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ เขตคลองสามวา เมื่อวันที่ 10 .. 2566 เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สุขภาพเขตคลองสามวา ก่อนนำไปสู่กระบวนการจัดทำ "ธรรมนูญสุขภาพ"


สำหรับการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองสามวา, ผู้แทนชุมชนเขตคลองสามวา 84 ชุมชน, เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 64, อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.), อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.), สภาองค์กรชุมชน, สภาเด็กและเยาวชน, สภาคนเมือง เขตคลองสามวา, โรงเรียนในสังกัดเขตคลองสามวา, สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในพื้นที่เขตคลองสามวา




ทั้งนี้ ทีมวิชาการจาก มรภ.พระนคร ซึ่งเป็นผู้นำกระบวนการ ได้หยิบยกเรื่องเล่าความสำเร็จของ "ธรรมนูญเกาะหมาก" ขึ้นมาตั้งต้นเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจในการทำ "ธรรมนูญสุขภาพเขตคลองสามวา" ตามด้วยการระดมความเห็นและจัดลำดับความสำคัญสถานการณ์ปัญหา ของคนในชุมชนเขตคลองสามวา


พร้อมกันนี้ยังได้ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกลุ่มย่อยตามประเด็นปัญหาต่างๆ โดยมีประเด็นการแลกเปลี่ยน ได้แก่ 1. เรื่องที่เป็นปัญหา 2. ความสำคัญ/ความเร่งด่วนของปัญหา 3. ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ 4. ภาพฝัน/เป้าหมาย 5. ข้อตกลงร่วมกัน (ระดับชุมชน,ระดับหน่วยงาน)


สำหรับผลจากการรวบรวมข้อมูล สถานการณ์สุขภาพในพื้นที่เขตคลองสามวา สามารถจัดกลุ่มข้อมูลออกเป็น 7 เรื่องหลัก โดยเรียงลำดับตามความสำคัญจากมากไปถึงน้อย จากข้อมูลที่ได้ลงความเห็นร่วมกัน ประกอบด้วย 1. การจัดการขยะ - ไม่คัดแยกขยะ, ถังขยะไม่เพียงพอ 2. ความปลอดภัยการใช้รถและใช้ถนน - จอดรถริมถนน, ถนนชำรุด 3. ผู้สูงอายุ - ไม่มีคนดูแล, ไม่มีอาชีพและรายได้


4. ยาเสพติด - มีผู้ค้า/เสพในชุมชน, เกิดการลักขโมย และใช้ความรุนแรง 5. สุขภาพจิต - การขาดรายได้, การใช้สารเสพติด 6. อาชีพและรายได้ในครัวเรือน/ชุมชน - คนว่างงาน, ไม่มีตลาดจำหน่ายสินค้า 7. การสร้างการมีส่วนร่วม (ส่งเสริมการท่องเที่ยว) - ขาดการประชาสัมพันธ์, ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ในส่วนของข้อมูลสถานการณ์สุขภาพ ที่ได้จากการระดมและวิเคราะห์ของคนคลองสามวาครั้งนี้ คณะทำงานทางวิชาการ มรภ.พระนคร จะนำข้อมูลจากเวทีดังกล่าวกลับไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ของเขตเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การยก (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพเขตคลองสามวา ก่อนที่ในขั้นต่อไปจะมีการจัดเวทีเพื่อพิจารณา (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพเขตคลองสามวา และประกาศใช้ร่วมกันต่อไป