บทบาท 'รพ.สงฆ์' ต่อภิกษุ-สามเณร ดูแลสุขภาพผ่าน 'พระคิลานุปัฏฐาก' เพิ่มทักษะพระอาสาเป็นผู้นำสุขภาวะ สร้างคุณค่าภายในวัด-ชุมชน-สังคม17 กรกฎาคม 2566
หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "โรงพยาบาลสงฆ์" และอาจสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องมีหน่วยบริการสุขภาพของ "พระสงฆ์" ที่ตั้งแยกขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
นั่นก็เพราะเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้ว "พระสงฆ์" กลับไม่มีผู้ดูแลเหมือนกับฆราวาสทั่วไป ขณะเดียวกันด้วยข้อกำหนดตาม "พระธรรมวินัย" ก็ทำให้การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ต้องยึดโยงภายใต้ข้อปฏิบัติบางประการ
เมื่อตระหนักถึงความสำคัญในการ "อุปัฏฐากภิกษุไข้" เป็นการเฉพาะ "โรงพยาบาลสงฆ์" จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อมีบทบาทหน้าที่ในการบำบัด รักษา ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพของ "พระภิกษุ-สามเณร" ที่อาพาธ
แน่นอนว่าการรักษาพยาบาล ไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ รพ.สงฆ์ ยังมุ่งจัดให้มีการอบรมถวายความรู้การดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์มีทักษะ มีความสามารถดูแลสุขภาพทั้งของตนเอง และของภิกษุร่วมวัดที่เป็นอุปัชฌาจารย์หรือศิษย์ผู้ร่วมสำนักได้
พร้อมกันนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเป็น "ผู้นำด้านสุขภาวะ" ของชุมชนและสังคม เพราะเดิมเองพระสงฆ์ก็มีบทบาทการเป็น "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" ของชุมชนสอนกุลบุตรธิดาอยู่แล้ว โดยเป้าหมายทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักการของ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566"
สำหรับพระสงฆ์เองยังมีกลไกของ พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) หรือที่เรียกว่า "พระคิลานุปัฏฐาก" ผู้ทำหน้าที่เพิ่มเติมคือการให้ความช่วยเหลืออุปัฏฐากภิกษุไข้ภายในวัด เช่น การวัดไข้ วัดความดัน วัดออกซิเจนในกระแสเลือด ช่วยสรงน้ำ เช็ดตัว ป้อนยาป้อนอาหาร รวมถึงเป็นผู้คอยประสานงานระหว่างภิกษุไข้กับสถานพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน เป็นผู้นำและอบรมสั่งสอนการพัฒนาการเรียนรู้ในด้านคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงการเข้าสู่หนทางธรรมแห่งการบรรลุมรรคผลนิพาน อีกทั้งยังเป็นผู้นำทางด้านสุขภาวะสังคม
หากในทางกลับกัน เมื่อพระสงฆ์มีปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเจ็บป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจจะต้องเข้ารับการรักษาและฉันยาตลอดชีวิต รวมถึงการต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดกับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเกิดกับภิกษุอาพาธอีกมากมาย
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ของ รพ.สงฆ์ ในปี 2565 พบว่าพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง 45.23% โรคเบาหวาน 44.23% โรคไขมันในเลือดสูง 42.25% และโรคไตวายเรื้อรัง 29.81%
สาเหตุหลักสำคัญอันเนื่องมาจาก "วัตรปฏิบัติ" ของพระสงฆ์ที่มีข้อจำกัดทางด้านการออกกำลังกาย ทางด้านอาหารขบฉัน ที่ไม่สามารถเลือกฉันได้ รับแต่อาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตเป็นหลัก จึงเป็นที่มาของการเกิดโรคต่างๆ
ขณะเดียวกันในแง่ของ "การเข้ารับบริการด้านสุขภาพ" ก็ยังมีความแตกต่างจากประชาชนทั่วไป เริ่มตั้งแต่การเดินทาง การนำส่ง การติดต่อกับหน่วยบริการด้านสุขภาพ ตลอดจนขั้นตอนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ต้องปะปนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมณะเพศที่ต้องรักษาศีลข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ทางพระธรรมวินัย
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ "ปฏิเสธ" การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอยู่เนืองๆ จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ต้องมีพระผู้ทำหน้าที่ดูแลอุปัฏฐากภิกษุอาพาธดังกล่าว
ด้าน นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ ให้ข้อมูลว่า รพ.สงฆ์ ให้ความสำคัญในการดูแลภิกษุไข้ให้เหมาะสมตามพระธรรมวินัย จึงได้จัดโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก หลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระ อสว. เพื่อให้มีความรู้ความสามารถมีทักษะในการประเมินความเจ็บไข้
พร้อมกันนั้นยังให้สามารถใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เบื้องต้นได้ เช่น การวัดไข้ วัดความดันโลหิต การจับชีพจร การช่วยฟื้นคืนชีพ และเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อตรวจหาค่าน้ำตาล โดยมีพระสงฆ์สามเณร เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 200 รูป
การบรรยายให้ความรู้พระ อสว. นี้ยังมีรายละเอียดหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ด้วยกระบวนการสร้างความรอบรู้สุขภาพสำหรับพระสงฆ์ เบาหวานระยะสงบ ยาในชุดสังฆทานปลอดภัยจริงหรือไม่ และรู้ได้อย่างไรว่าเราซึมเศร้า พร้อมฝึกปฏิบัติตามฐานการเรียนรู้การวัดสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อสร้างและพัฒนาพระคิลานุปัฏฐากให้มีความรู้ ความเข้าใจการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัดและชุมชนได้
ดังคำพุทธพจน์ที่ว่า "โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฐเหยย โส คิลานํ อุปฏฐเหยย" อันแปลว่า "ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด"