ผู้บริโภคไทยคลายความกังวลใจ อย.ยัน 'แป้งฝุ่น' ในปท.ปลอดภัย ปราศจากสารก่อมะเร็ง 'แร่ใยหิน' ลุ้นมาตรการหยุดใช้ทุกผลิตภัณฑ์20 กรกฎาคม 2566
กลายเป็นมหากาพย์ปมปัญหาที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มายาวนานนับทศวรรษ จากการรวมตัวของผู้บริโภคที่ทำการฟ้องร้องผลิตภัณฑ์ "แป้งฝุ่นเด็ก" ของทางบริษัท โดยอ้างว่าทำให้เกิดมะเร็งบริเวณเนื้อเยื่อรอบหัวใจ ซึ่งรวมแล้วเป็นจำนวนถึงกว่า 4 หมื่นคดี มูลค่าความเสียหายพุ่งทะยานไปไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท
สาเหตุหลักนั้นมาจากคำร้องที่ว่า แป้งเหล่านี้มีการปนเปื้อน "แร่ใยหิน"
สำหรับประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาให้คำยืนยันในเรื่องนี้ว่า แป้งฝุ่นเด็กที่ขายในไทย มีความปลอดภัย "ไร้การปนเปื้อน" แร่ใยหิน (Asbestos) จึงขอให้ผู้บริโภควางใจได้
ทั้งนี้ จากการติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยในแป้งฝุ่นโรยตัว ของ อย. ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ได้เก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลคัม (Talcum) หลายยี่ห้อ รวมทั้งยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมจำนวน 158 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้คำอธิบายว่า แป้งฝุ่นโรยตัวเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ ช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว
อย่างไรก็ตาม ทัลคัมที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน (Asbestos) และเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยปัจจุบันทัลคัมยังคงเป็นสารที่ปลอดภัย สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้
"สำหรับการใช้แป้งฝุ่นโรยตัว มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้ในปริมาณมาก เพราะผงแป้งจะฟุ้งกระจาย หากสูดดมเข้าไปอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ นอกจากนี้กฎหมายได้กำหนดให้แสดงคำเตือนที่ฉลากของแป้งฝุ่น สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ว่า ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของเด็ก" ภก.วีระชัย อธิบาย
ในส่วนของแร่ใยหินทุกชนิด นับว่าเป็น "สารก่อมะเร็ง" ที่มีผลต่อสุขภาพของคนงานและประชาชนทั่วไป ซึ่งพบมากในกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้อง ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
ทำให้ในปี 2553 ประเด็นนี้ได้รับฉันทมติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งได้มีมติ "มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" เป็นข้อเสนอให้ทุกภาคส่วนมีมาตรการควบคุมและยกเลิกการใช้แร่ใยหิน จนนำมาสู่การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมติเกี่ยวกับเรื่องแร่ใยหินออกมาถึง 3 ครั้ง ในปี 2554, 2555 และ 2557
กระนั้นแม้จะมีการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินได้ จึงนำมาสู่การมีฉันทมติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2562 เรื่อง "ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดมาตรการเหล่านี้อีกครั้ง
ส่วนของเป้าหมายใหม่ภายใต้มตินี้ คือการเร่งรัดให้ดำเนินการยกเลิกการใช้ "แร่ใยหินไครโซไทล์" เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ และกระเบื้องยางปูพื้น ภายในปี 2565 และยกเลิกการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าเบรก คลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา ภายในปี 2568
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ความมั่นใจแล้วว่าประชาชนจะปลอดภัยจาก "แร่ใยหิน" ในผลิตภัณฑ์ "แป้งฝุ่นโรยตัว" แต่การจะทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินได้จริงในทุกผลิตภัณฑ์ ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการร่วมกันติดตามต่อไป