สช.ระดมแนวทางหาต้นแบบสร้าง 'ระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน' พัฒนาด้วยเครื่องมือการประเมิน 'DE' พร้อมแนวคิดออกแบบบริการ 'SD'
21 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช. ระดมแนวทางพัฒนาต้นแบบจัดการ "ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน" เพิ่มขีดความสามารถรับมือภาวะวิกฤต ภายใต้การใช้ 2 เครื่องมือ "Developmental Evaluation - Service Design" ผนวกแพลตฟอร์มฐานข้อมูลกลาง


ศูนย์วิชาการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมแนวทางการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาต้นแบบการจัดการระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน และระบบข้อมูลที่สนับสนุนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน ในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting เมื่อวันที่ 20 .. 2566 เพื่อนำเสนอแนวทาง กระบวนการ และการสนับสนุนการดำเนินงานให้กับโหนดพี่เลี้ยงชุมชน



นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินงานดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนฯ ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยโครงการนี้ต้องการยกระดับศักยภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ต้องการยกระดับการรับมือภาวะวิกฤตด้านสุขภาพปัจจุบัน และที่ยังไม่เกิดขึ้น ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชนนั้นๆ


"นวัตกรรม (Innovation) ไม่ใช่สร้างมาปกป้อง (Protect) แต่เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การออกแบบ การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ที่เน้นการปฏิบัติการจริงในพื้นที่ ควบคู่กับกระบวนการวิจัยเชิงพัฒนา และกระบวนการพัฒนาต่างๆ โครงการนี้จึงให้ความสำคัญใน 2 มิติ ในภาวะที่ชุมชนต้องเตรียมพร้อมกับการรับมือทั้งภาวะที่ปกติ และไม่ปกติ


นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในส่วนของมิติแรกเมื่อพูดถึงเรื่องของวิกฤต ควรมองให้หลากหมาย โดยไม่ใช่เพียงแค่วิธีการแก้ปัญหาเมื่อเจอวิกฤตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองลึกไปถึงการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดวิกฤตหรือปัญหาเป็นสำคัญ ซึ่งวิกฤตในที่นี้หมายถึงภาวะที่ไม่ปกติ ที่เกิดขึ้นแบบล้นเกิน เกินกว่าขีดความสามารถที่ชุมชนจะสามารถจัดการได้ โครงการฯ จึงมาชวนคิดว่าถ้าวิกฤตดังกล่าวชุมชนรับมือ เตรียมพร้อม และจัดการไม่ไหวจะทำอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่วิกฤตจะเกิดขึ้น


ในส่วนของมิติที่สอง คือ ต้องสร้างหลักประกันความมั่นใจ ให้ชุมชนได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการวิกฤตสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนด้วยตนเอง ดังนั้นโครงการนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นโอกาสการพัฒนาที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์บางอย่าง ที่ผ่านการทดสอบแล้วสามารถเป็นระบบที่มีความยั่งยืน ต่อยอด และนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งโครงการฯ จะทำให้ชุมชนได้พบสิ่งใหม่ๆ แนวทางรับมือกับวิกฤตใหม่ๆ โดยต่อยอดจากทุนเดิมที่ชุมชนมีมาใช้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด




พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาต้นแบบระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน และระบบข้อมูลที่สนับสนุนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ มีการผสมผสานกระบวนการพัฒนา 2 เครื่องมือ


สำหรับเครื่องมือทั้ง 2 ประกอบด้วย 1. การประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation: DE) ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การประเมินเพื่อตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่มุ่งเน้นไปที่การประเมินเพื่อพัฒนาระหว่างทาง ระหว่างการทำงานของชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานของตนเองได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติการโครงการจึงต้องการเสริมด้วยเครื่องมือที่ 2 นั่นคือ


2. กระบวนการออกแบบบริการ (Service Design: SD) โดยนำแนวคิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้ในการออกแบบการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน บริการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง และเป้าหมายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่


ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ในการสนับสนุนการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิและระบบข้อมูลที่สนับสนุนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน ในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพของชุมชน จนเกิดกระบวนการพัฒนา 8 ขั้น ในพื้นที่ 17 ชุมชน


ในส่วนของ 8 ขั้น ได้แก่ 1. การค้นหาประเด็นวิกฤตสุขภาพ 2. การกำหนดภาพฝันร่วมของประเด็นวิกฤตสุขภาพ (3-5 ปี) 3. การวิเคราะห์ความซับซ้อนของประเด็นวิกฤตสุขภาพ 4. เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล 5. ระดมความคิดการแก้ไขปัญหาหรือออกแบบนวัตกรรม 6. พัฒนาต้นแบบการจัดการระบบบริการปฐมภูมิโดยชุมชนและระบบข้อมูล 7. ดำเนินการให้ได้ตามที่ออกแบบ 8. ประเมินตามตัวชี้วัดมาผนวกรวมเข้าด้วยกัน


"ทั้ง 8 ขั้นนี้จึงจะเกิดเป็นการทบทวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานโครงการฯ และให้ชุมชนได้ตั้งคำถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างในการกำหนดปัญหาของชุมชน หรือการเกิดนวัตกรรมระบบบริการสุขภาพโดยชุมชน การเกิดตัวชี้วัดซ้ำในการวัดความก้าวหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ชุมชนวาดฝันไว้ในการดำเนินโครงการฯ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพชุมชน เช่น นโยบายสาธารณะและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป" พญ.ขจีรัตน์ ระบุ




ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นวัตกรรมระบบข้อมูลชุมชน มุ่งเน้นการสร้างระบบข้อมูลที่ชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูล และชุมชนเป็นผู้เก็บข้อมูลด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมตลอดการติดตาม ประเมินผล และการออกแบบระบบข้อมูลเพื่อรองรับภาวะวิกฤต การมีระบบข้อมูลชุมชนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองด้านสุขภาพเพิ่มได้มากขึ้น และทำให้ให้ชุมชนสามารถรับมือกับภาวะวิกฤตด้วยตนเองได้ดียิ่งขึ้น


ขณะที่แกนหลักของระบบสุขภาพชุมชนภายใต้โครงการนี้ ใช้แนวคิด 6BB+1 คือ องค์ประกอบระบบสุขภาพ (6 Building Blocks) + 1 การจัดการความรู้และนวัตกรรม ซึ่งแกนหลักสำคัญของงานนี้ คือ การจัดการร่วม (Governance) บริการที่จัดให้ (Health Service Delivery) ข้อมูลและสารสนเทศ (Information) โดยระบบข้อมูลสุขภาพชุมชน ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ระบบ/กระบวนการทำงาน (System/Procedure) ที่ใช้ฐานคิด INNE คือ Individual ที่เป็นชุมชน Node ที่เป็นหน่วยสนับสนุน Network ที่เป็นเครือข่าย Enable Environment สภาพแวดล้อมเสริมพลัง


2. ข้อมูล/สารสนเทศ (Data/Information) ที่ใช้ข้อมูลสุขภาพในดภาพรวมของชุมชนและข้อมูลสมาชิกแต่ละคนแต่ละครอบครัวของชุมชน เช่น ข้อมูลทางภูมิศาสตร์และการปกครอง ประวัติศาสตร์ชุมชน แผนที่เดินดิน โครงสร้างองค์กรชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน โดยชุมชนจะมีข้อมูลเชิงคุณภาพที่เก็บไว้ใน Google workspace 3. บุคลากร (People Ware) คือ ทีมจัดการความรู้ชุมชน (Community Knowledge and Innovation Management team, KIM) เช่น ผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติ อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจชุมชน ผู้มีความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ


4. อุปกรณ์ (Hardware) เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ 5. เครื่องมือ/แพลตฟอร์ม (Software/Platfrom/Appication) ที่ทางโครงการได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่มีการเก็บข้อมูลของชุมชนและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ คือ Communityhealth link (CHL) โดยข้อมูลคือการจัดการร่วม (การอภิบาล) ผนวกกับข้อมูลและสารสนเทศ ใช้ 6 องค์ประกอบระบบสุขภาพ (6 Building Blocks) ผนวกกับการจัดการความรู้และนวัตกรรมชุมชน มาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพชุมชน


นพ.วิรุฬ กล่าวว่า ชุมชนต้องชวนกันมาคิดว่าชุมชนเราต้องการข้อมูลอะไร เช่น ข้อมูลระบบและวิธีการทำงานต่างๆ ที่ต้องดึงมาจากข้อมูลภาครัฐ และข้อมูลที่ชุมชนเป็นผู้สำรวจเอง โครงการฯ ต้องการเอาข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนนี้มาเชื่อมโยงกัน โดยชุมชนจะมีข้อมูลเชิงคุณภาพที่เก็บไว้ใน Google workspace ของชุมชนเอง โดยชุมชนเป็นผู้ครอบครองข้อมูล ในส่วนของหน่วยสนับสนุนชุมชน (โหนดพี่เลี้ยง) ต้องมาช่วยชุมชน เก็บข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวต้องมาจากคนใหม่ๆ และเป็นคนที่เข้าถึงข้อมูลที่เราต้องการได้มากยิ่งขึ้น


"เราจะเก็บข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม Communityhealth link (CHL) ที่พัฒนาเตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้ชุมชนได้มีโอกาสการในการใช้งานข้อมูลที่อยู่ในภาครัฐ ทาง สช. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแชร์ข้อมูลภาครัฐและข้อมูลจากชุมชน โดยแพลตฟอร์ม Communityhealth link (CHL) ที่พัฒนาไว้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล" นพ.วิรุฬ ระบุ