สช.ระดมภาคีตัวแทน 'ชาวดอนเมือง' ร่วมขับเคลื่อน 'ธรรมนูญสุขภาพเขต' ใช้กลไก 'กองทุนหลักประกันสุขภาพ' สู่การสร้างสุขภาวะพื้นที่แบบมีส่วนร่วม
21 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.ผนึก สำนักงานเขตดอนเมือง และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมเสริมศักยภาพชุมชนเข้าถึงงบประมาณ "กองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม." ขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะตามทิศทาง "ธรรมนูญสุขภาพเขต"


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักอนามัย กทม., สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และสำนักงานเขตดอนเมือง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพชุมชนในการพัฒนาโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. พื้นที่เขตดอนเมือง เมื่อวันพุธที่ 19 .. 2566 โดยมีผู้แทนกรรมการ 22 ชุมชนเขตดอนเมือง และคณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตดอนเมือง กว่า 80 คนเข้าร่วม


สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางการอนุมัติโครงการ พร้อมเสริมศักยภาพชุมชนในการพัฒนาโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเขตดอนเมือง โดยมี นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วม


พร้อมกันนี้ ภายในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "วิวัฒน์ระบบสุขภาพ: กระจายอำนาจสู่ชุมชน รูปแบบการจัดการสุขภาพระบบพื้นที่แบบมีส่วนร่วม" โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ซึ่งยืนยันว่า คนในชุมชนจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องในชุมชนดีที่สุด ฉะนั้นคนในชุมชนต้องเป็นผู้จัดการระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะในพื้นที่ได้เอง




ขณะที่ นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช. กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพเขตดอนเมือง เกิดจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนที่เข้ามากำหนดข้อตกลงร่วม หรือทิศทางการสร้างสุขภาวะของประชาชน/ชุมชนในเขต เพื่อนำไปสู่ปลายทางการสร้างสุขภาวะ 4 มิติ ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา โดยใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญ หรือเป็นกรอบทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในการเขียนโครงการขอรับสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพเขต


ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ในฐานะกรรมการกองทุนฯ ได้กล่าวชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การอนุมัติกองทุนฯ โดยระบุว่า ภาคประชาชนสามารถรวมตัวกันอย่างน้อย 5 คน เพื่อเขียนโครงการรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญก่อนที่จะเขียนโครงการ คือต้องรู้ความต้องการด้านสุขภาพ (Healt need) ของชุมชน หรือสิ่งที่เขียนไว้ในธรรมนูญสุขภาพเขตดอนเมือง มาเขียนเป็นโครงการ


นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้มีการทำความเข้าใจระเบียบกองทุนฯ และหลักการในการการเขียนโครงการ ก่อนจะร่วมกันทำกิจกรรมเวิร์คช็อปกลุ่มย่อย โดยชุมชนได้จัดทำร่างข้อเสนอโครงการ เพื่อนำไปพัฒนาและเข้าสู่กระบวนการยื่นข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยได้มีการนำเสนอร่างโครงการต่อที่ประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป