การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ วางแผน นโยบายรองรับสังคมสูงวัย หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนหลังถ่ายโอน รพ.สต.เข้าสู่ ‘อบจ.นครราชสีมา'
24 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (กปส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการศึกษาวิจัย การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานในการขับเคลื่อนหลักฐานเชิงประจักษ์ไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 


การวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับเครือข่ายวิชาการ HIA ระดับภูมิภาค 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อศึกษาบริบทของพื้นที่ศึกษา ในด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ชุมชน ประชากร สังคม สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ และศึกษาบทบาทหน้าที่และวิธีการดำเนินงานร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ในการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 


สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 250 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, 2560) 


องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในพื้นที่ศึกษาของโครงการฯ มีความสนใจศึกษาประเด็นการถ่ายโอนภารกิจที่กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) .. 2551 



อบจ.นครราชสีมา มีการแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนแล้ว เป็น 6 กลุ่มพื้นที่สุขภาพ โดยมีคณะผู้วิจัยหลักจาก สช. และเครือข่ายวิชาการ HIA ภาคอีสาน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ดำเนินงานร่วมกับ อบจ.นครราชสีมา โดยมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบริบทและสถานการณ์สุขภาพของแต่ละกลุ่มพื้นที่สุขภาพ ซึ่งมีผู้แทนจาก รพ.สต. ที่ถ่ายโอน จำนวน 6 กลุ่มพื้นที่สุขภาพ เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลดังกล่าว 


จากเวทีแลกเปลี่ยนฯ ทำให้ได้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน คือ การจัดกิจกรรมการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนานโยบายสาธารณะของ อบจ. ในการพัฒนาสุขภาวะที่ดีของประชาชน


จากนั้น คณะผู้วิจัย อบจ. และผู้แทน 6 กลุ่มพื้นที่สุขภาพ ได้วิเคราะห์กิจกรรมที่เกิดขึ้นร่วมกันภายใต้ การส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบไปด้วย


1. กิจกรรมการคัดกรองและการประเมินสุขภาพประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งเป็นกลุ่มติดสังคมและกลุ่มติดบ้าน โดยใช้แบบคัดกรองที่เป็นแบบสอบถามและการประเมินโดยใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การดำเนินงานภายใต้กิจกรรมดังกล่าว มีข้อห่วงกังวลในการเข้าถึงบริการของกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะยังไม่ครอบคลุม ระบบการส่งต่อที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงขาดผู้ดูแล 




2.
กิจกรรมจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ มีการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน (ใจรัก) จัดอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการสนับสนุนการทำงานของผู้ช่วยเหลือผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care Giver; CG) เป็นต้น มีข้อห่วงกังวล คือ CG ในชุมชนยังมีจำนวนน้อย การปฏิบัติงานยังไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น ลาออกกลางคัน การยอมรับของญาติในการยอมให้ CG เข้าไปดูแล และช่องว่างในการประสานงานระหว่างพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น


การดำเนินงานในระยะถัดไป คณะผู้วิจัยและ อบจ.นครราชสีมา ร่วมดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่ต้นแบบการจัดกิจกรรมการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยมี รพ.สต. ในเขตพื้นที่สุขภาพที่ 6 อำเภอปากช่อง เป็นพื้นที่นำร่อง จากประเด็นการศึกษาดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ 


ดังนั้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านการให้บริการในระยะยาว มีระบบการคัดกรองผู้สูงอายุ ระบบการส่งต่อ รวมไปถึงการจัดระบบจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ ที่จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพ ทักษะที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วย หากระบบในการดูแลผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เกิดการจัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 


จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุนั้น ไม่ใช่แค่ความท้าทายในระดับพื้นที่ แต่เป็นความท้าทายในระดับประเทศที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและเตรียมรับมืออย่างจริงจัง


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566