สช.ผนึกคณะสถาปัตย์ฯ ม.เกษตร เดินหน้าปรับใช้ 'ภูมิสถาปัตยกรรม' ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ เชื่อมร้อยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.
25 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช. ร่วมมือกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ .เกษตรศาสตร์ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย "ภูมิสถาปัตย์" ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ เชื่อมร้อยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ.


ศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์การออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือเดินหน้าเชื่อมร้อยการทำงานผ่านกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มุ่งเน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม สำหรับสร้างระบบสุขภาพของท้องถิ่นให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ทั้งมิติสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สุขภาพของทุกคนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมรอบตัวมากกว่าโรงพยาบาล ดังนั้นคำว่า 'สุขภาพ' จึงไม่ใช่มีแค่โรงพยาบาล แต่ครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตที่เราพบเจอในแต่ละวัน โดยการทำงานเรื่องสถาปัตยกรรมกับสาธารณสุข ก็เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการควบคู่กันในการออกแบบเพื่อรองรับสถานที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ป่วย


นพ.ปรีดา กล่าวว่า ขณะเดียวกันบางอย่างก็ไม่ใช่แค่คำนึงถึงคนไข้เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงญาติคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งที่บางเรื่องชาวบ้านหรือชุมชนมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตนเอง ดังนั้นสถาปนิกจะทลายความเชื่อเดิมอย่างไร ปรับเรื่อง 'ภูมิสถาปัตยกรรม' ของสถานีอนามัยหรือ รพ.สต. ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น เหมาะสมกับผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง


ด้าน ผศ.ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้าศูนย์การออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า กรอบแนวทางการทำงานที่ผ่านมาของการสร้างพื้นที่สุขภาวะ ได้ทำกับโรงพยาบาลชุมชนเป็นหลัก รวมถึงพื้นที่สูงอายุ และพื้นที่เด็ก โดยใช้การลงพื้นที่ในการออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อปรับปรุงพื้นที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ห้องฉุกเฉิน (ER) ทำผังแม่บทโรงพยาบาล


ผศ.ดร.สรนาถ กล่าวว่า ต้นทุนที่มีอยู่ดังกล่าวสามารถนำมาต่อยอดการทำงานเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การพัฒนาสิ่งแวดล้อม รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ที่มีการถ่ายโอน 100% การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีคณะสาธารณสุข และคณะสถาปัตยกรรมในพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพสู่การออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี


"เรามีแนวคิดการนำร่องแบบร่วมลงทุน (Co funding) เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้กับ รพ.สต. และ อบจ. พัฒนาหลักสูตรเพื่อขยายผลในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพควบคู่ไปการกับสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี" ผศ.ดร.สรนาถ กล่าว


พร้อมกันนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีข้อสรุปการดำเนินงานร่วมกัน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ 2. การสร้างข้อตกลงความร่วมมือระดับจังหวัด 3. พัฒนาศักยภาพคนในมิติสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน พร้อมปรับสภาพบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับสุขภาพ และพึ่งตนเองได้


4. การขยายผลเชิงพื้นที่สู่นโยบาย ผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และนำผลผลิตนำเสนอต่อหน่วยงานเชิงนโยบาย 5. พื้นที่ปฏิบัติการร่วมกัน เช่น อบจ.ขอนแก่น อบจ.หนองบัว อบจ.สุพรรณบุรี อบจ.ร้อยเอ็ด