การขับเคลื่อนสุขภาวะ ดูแลชีวิต 'พระสงฆ์' ระยะสุดท้าย ตามธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ฯ ฉบับ 2
26 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 กำหนดให้การขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ร่วมกันของหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนด้วยพลังบวรภายใต้หลักการทางธรรมนำทางโลก สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากิจการพระพุทธศาสนา แผนพัฒนาประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่เป้าหมายพระแข็งแรง วัดมั่งคง ชุมชนเป็นสุขโดยพระสงฆ์ คณะสงฆ์ ชุมชน สังคม หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทำหน้าที่ขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลและพึงนำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาขับเคลื่อน


โดยปัจจุบันปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมีปัญหามาก สุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตและการตายดีในพระสงฆ์นับเป็นประเด็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเป็นสังคมสูงวัยมีพระสงฆ์ที่ชราภาพเพิ่มมากขึ้น มีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากที่ประสงค์จะมรณภาพขณะยังเป็นพระสงฆ์ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปัจจุบันวัดยังไม่มีศักยภาพในการดูแลพระสงฆ์ที่ชราภาพและต้องการมรณภาพขณะยังเป็นพระสงฆ์ เมื่อถึงวัยชราภาพพระสงฆ์มีทางเลือก 2 ทาง คือ (1) สึกออกไปจากวัดและกลับบ้านไปให้ญาติดูแล (2) หากในวัดมีผู้ดูแลก็สามารถมรณภาพในเพศบรรพชิตได้ เมื่อสถานการณ์ในวัดเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต และการตายดีในพระสงฆ์ขึ้นเพื่อรองรับความท้าทายเหล่านี้


หากต้องการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต และการตายดีในพระสงฆ์ให้ยั่งยืน ควรจะต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคมควรมีนโยบายให้หนึ่งจังหวัดในประเทศไทย มีวัดหรือสถานที่สำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เพื่อให้พระสงฆ์อาพาธในจังหวัดนั้นที่ต้องการมรณภาพในเพศบรรพชิตได้รับการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิตตามหลักธรรมวินัย และมรณภาพในเพศบรรพชิตสมดังเจตนาของตนเอง ซึ่งถ้ามีระบบเช่นนี้ทั่วประเทศจะทำให้เกิดแนวทางการดูแลพระสงฆ์ระยะสุดท้ายที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต และการมรณภาพที่สงบให้แก่พระสงฆ์ทั่วประเทศ


และเป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันเรื่องดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจในทางนโยบาย โดยความร่วมมือของมหาเถรสมาคม เครือข่ายคิลานธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการพัฒนาศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย โดยอาศัย วัดป่าโนนสะอาด .โชคชัย .นครราชสีมา เป็นต้นแบบในการดำเนินการ โดยกำลังดำเนินการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องและจัดหาพื้นที่นำร่องของโครงการ โดยการดำเนินการนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสุขภาวะของพระสงฆ์ และผู้ป่วยที่เป็นฆราวาสที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตให้มีสุขภาวะที่ดีจนกระทั่งชีวิตของผู้นั้นดับลง