WHO แถลงเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลก คุมเข้มการตลาด ‘อาหาร-เครื่องดื่ม’ ‘หวาน-มัน-เค็ม’ กระทบสุขภาพเด็ก ‘ไทย’ คาดมีกฎหมายบังคับใช้ปี 2567
4 กรกฎาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นแนวทางใหม่สำหรับประเทศสมาชิก และเป็นข้อแนะนำในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อกำกับควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม ที่อาจมีส่วนประกอบที่อันตรายต่อสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว เกลือและน้ำตาลสูง

 

สำหรับแนวทางใหม่ของ WHO ได้มีขึ้นหลังจากสถานการณ์การตลาดของผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มสำหรับเด็กในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี พบว่ามีอาหารและเครื่องดื่มหลายยี่ห้อที่มีส่วนประกอบ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจถึงระดับอันตรายต่อเด็กทั่วโลก และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามวัยของเด็กด้วย

 

ทั้งนี้ ในการกำกับต้องการให้เป็นนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมส่วนประกอบของอาหาร-เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบอันตรายต่อสุขภาพ รวมไปถึงให้มีการจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีการห้ามทำการตลาดในผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบ อีกทั้งยังให้ควบคุมเนื้อหาโฆษณาการตลาดที่ใช้ภาพการ์ตูน เพลง หรือเทคนิคที่โน้มน้าว และการให้สิ่งตอบแทนเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ของเล่น เป็นต้น

 

แถลงการณ์ของ WHO ยังระบุด้วยว่า การควบคุมโฆษณาและการตลาดของอาหาร-เครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ยังสอดรับกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันไว้ว่าจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็ก และแนวทางใหม่นี้จะเป็นการยืนยันว่านโยบายแต่ละประเทศจะให้การคุ้มครองสุขภาวะของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน

 

ดร.ฟรานเชสโก บรันกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหาร WHO ระบุว่า ปัจจุบันเราพบถึงความ 'แข็งกร้าว' ของการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มสำหรับเด็ก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง จึงต้องเรียกร้องให้มีแนวทางปฏิบัติสำหรับการโฆษณาที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ จะต้องกำหนดกฎระเบียบที่เคร่งครัดและครอบคลุม

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างในแต่ละประเทศ รัฐบาลจึงอาจกำหนดนโยบายให้สอดรับกับบริบทของประเทศนั้น ซึ่งการตัดสินใจเชิงนโยบายนี้จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วม ผ่านกลไกในการร่วมกันกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน

 

WHO ให้ความสำคัญกับการสร้างนโยบายที่ปกป้องสุขภาพของเด็ก เชื่อมโยงกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่มีคุณภาพ และควรให้มีอาหาร-เครื่องดื่มคุณภาพเป็นทางเลือกในการบริโภคของผู้คนทั่วโลก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องส่งเสริมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงจากอาหารที่ไม่มีคุณภาพไปด้วย” ผอ.ฝ่ายโภชนาการฯ WHO ระบุ

 

ตามแถลงการณ์ล่าสุดของ WHO เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร-เครื่องดื่มสำหรับเด็กนี้ ในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. ... ที่มีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 4 หมวด 42 มาตรา

 

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จะเป็นกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับวัยของผู้บริโภค รวมไปถึงควบคุมกลยุทธ์การตลาดที่โน้มน้าวผู้บริโภค ทั้งการแจกของ ทดลองใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2567

 

ที่มา: https://www.who.int/news/item/03-07-2023-who-recommends-stronger-policies-to-protect-children-from-the-harmful-impact-of-food-marketing

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ดอกผลจาก ‘สมัชชาสุขภาพฯ’ ปี 56 สู่ กม.คุมการตลาด ‘อาหาร-เครื่องดื่ม’ รูปธรรมความพยายามลด หวาน-มัน-เค็ม ป้องกันผลกระทบสุขภาพเด็ก-เยาวชน

https://main.healthstation.in.th/news/show/710